นายอนุสรณ์ นาคาศัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พูด ‘แนวคิด
และหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาการเมือง’ ให้ผู้บริหาร สมาชิกสภา ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และประชาชนในชัยนาท 200 คน 10.00-12.00 น. ศุกร์วันนี้ ที่โรงแรมเจ้าพระยา ธาราริเวอร์ไซด์ อ.เมือง จ.ชัยนาท
ถึงวันนี้ มีคนติดเชื้อโควิด-19 ทั้งโลก 611.43 ล้าน ตายไปแล้ว 6.5 ล้าน สหรัฐฯมีคนตายมากเป็นอันดับ 1 คือตายมากถึง 1 ล้าน บราซิล 6.8 แสน อินเดีย 5.2 แสน รัสเซีย 3.8 แสน เม็กซิโก 3.2 แสน อังกฤษ 1.8 แสน ตุรกี 1 แสน ฯลฯ ตามรายงานของบรูกกิงส์ ซึ่งเป็นสำนักคลังสมองด้านสังคมศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ใช้ข้อมูลเดือนมิถุนายน 2022 ของสำนักการสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ รายงานว่า คนอเมริกันวัยทำงาน 16.3 ล้าน กำลัง เผชิญภาวะลองโควิด
ส่วนผลการศึกษาของธนาคารกลางสหรัฐฯยังพบอดีตผู้ป่วยโควิด-19 ร้อยละ 24.1 มีอาการป่วยโน่นนี่นั่นนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป ผลการศึกษาจากกลุ่มความร่วมมือแบบผู้ป่วยนำ พบว่าคนที่เคยเป็นโควิด-19 แล้วเพียงร้อยละ 27 เท่านั้น ที่ยังทำงานได้ในชั่วโมงเท่าเดิมได้ และร้อยละ 23 ทำงานไม่ได้เนื่องจากผลกระทบโดยตรงจากอาการลองโควิด ทำให้สูญเสียค่าแรงอย่างน้อย 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 6.2 ล้านล้านบาทต่อปี
ลองโควิดทำให้ผู้คนหลายล้านทำงานไม่ได้ หรือทำงานได้น้อยลง แถมก็ยังต้องใช้เงินรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง ยังต้องกินต้องใช้ ต้องมีที่พักอาศัย เคราะห์ซ้ำกรรมซัดด้วยค่าครองชีพที่พุ่งกระฉูด เพราะเพิ่มงบสาธารณสุขไม่ไหว รัฐบาลของหลายประเทศจึงหันมาระวังเรื่องสุขอนามัย สิ่งไหนที่ป้องกันได้ก็เข้มงวดกวดขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสิ่งปนเปื้อนที่ติดมากับอาหารการกิน ที่อยู่ในน้ำ ในดิน และในอากาศ หลายประเทศเริ่มมีเจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจอาหารตามภัตตาคารร้านค้ามากขึ้น แม้แต่การสั่งสินค้าอาหารเข้าไปในประเทศก็ตรวจเข้มข้น
...
ไม่ว่าจะมีมาตรการโควิด-19 แบบใดก็มีผลกระทบกับสังคมและเศรษฐกิจทั้งสิ้น ประเทศส่วนใหญ่ในโลกใช้นโยบายให้ประชาชนปรับตัวให้อยู่กับโควิด-19 ได้โดยไม่กระทบกับคุณภาพชีวิตมากนัก ไม่ล็อกดาวน์ แต่ก็เสี่ยงกับประชาชนติดโควิด-19 และอาการลองโควิดที่ส่งผลกระทบในระยะยาว จีนเป็นประเทศเดียวที่ยังคงใช้นโยบายโควิด-19 เป็นศูนย์ ที่ตอนนี้ยังมี 33 เมืองซึ่งถูกล็อกดาวน์ ทั้งล็อกดาวน์บางพื้นที่หรือล็อกดาวน์ทั้งเมือง ส่งผลกระทบต่อผู้คน 65 ล้านคน
ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเคยใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 เข้มงวด ห้ามต่างชาติเข้าประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2021 ปีนี้เองเป็นปีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นต่ำที่สุดในรอบ 57 ปี (นับตั้งแต่ปี 1964) ทำให้กระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ญี่ปุ่นประกาศผ่อนปรนมาตรการด้านการท่องเที่ยว โดยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารขาเข้าจาก 2 หมื่นคน เป็น 5 หมื่นคนต่อวัน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มก็ไม่ต้องตรวจโควิด สามารถท่องเที่ยวได้อิสระแบบไม่มีไกด์ โดยเริ่มตั้งแต่ 7 กันยายน 2022 เป็นต้นไป
ที่ซ้ำเติมก็คือ ภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติตามมาหลากหลายมากมาย ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม เกิดภัยแล้งในยุโรปและจีนจนกระทบผลผลิตทางการเกษตร แม้แต่ในเอเชียกลางบางประเทศ ทะเลอารัลที่เคยกว้างใหญ่ไพศาลขนาดมีเรือประมงวิ่งได้หลายร้อยลำ ถึงวันนี้ไม่มีน้ำเลยแม้แต่หยดเดียว กระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมเป็นล้านเอเคอร์เช่นกัน
ปากีสถานที่มีประชากร 243 ล้าน แผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลเคยใช้ผลิตอาหารการกิน ขณะนี้มีน้ำท่วม 2.93 แสน
ตารางกิโลเมตร เท่ากับพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุด 25 จังหวัดของไทยรวมกัน ปีนี้ยันปีหน้า คนปากีสถานเป็นร้อยล้านจะเอาอาหารจากไหนใส่ท้อง
สถานการณ์โลก ค.ศ.2022-2023 อันตราย การศึกษาทางสังคมและเศรษฐกิจทุกสำนักออกมาให้ข้อมูลตรงกัน และเตือนให้ทุกคนทุกประเทศเตรียมตัวรับสถานการณ์.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com