ข้อมูลจาก ดาวเทียมโคเปอร์นิคัส ขององค์การอวกาศยุโรปที่ถูกใช้ให้ทำแผนที่ขนาดของน้ำท่วมจากอวกาศเพื่อเป็นตัวช่วยในการช่วยเหลือกู้ภัย เผยว่า ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.มรสุมฝนที่ตกหนัก จัดว่าหนักกว่าปกติถึง 10 เท่า ทำให้พื้นที่มากกว่า 1 ใน 3 ของปากีสถานจมบาดาล พร้อมยืนยันด้วยภาพถ่ายดาวเทียมให้เห็นเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ยาว และกว้างหลายสิบกิโลเมตร อันเป็นผลมาจากน้ำในแม่น้ำสินธุล้นเอ่อขึ้นมา

ด้านตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมปากีสถานครั้งใหญ่นี้พุ่งเกิน 1,200 รายแล้ว บ้านเรือนก็เสียหายนับหลายล้านหลัง ส่วนพื้นที่เกษตรและพืชผลก็ย่อยยับไปกับน้ำ ผู้คนที่ถูกผลกระทบมีมากกว่า 33 ล้านคน ประชาชนต้องอพยพไปอาศัยยังค่ายพักพิงชั่วคราว มีผู้เชี่ยวชาญ หลายรายระบุว่า มรสุมฝนหนักนี้มีสาเหตุจากภาวะโลกร้อน ซึ่งคำพูดของนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ก็สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น ว่า น้ำท่วมครั้งนี้ถือเป็นภัยพิบัติทางสภาพอากาศ เจ้าตัวก็ประกาศระดมทุนสนับสนุนฉุกเฉิน 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 5,833 ล้านบาท

ประเมินกันว่า หากปากีสถานผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ ราคาของการฟื้นฟูบูรณะใหม่ในหลายภาคส่วนต้องใช้เงินมากเกินกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 365,000 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินที่มหาศาลเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่มากโข อย่างไรก็ตาม นานาชาติก็ไม่ทิ้งกัน โดยได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ช่วยบรรเทาทุกข์ภัยในครั้งนี้แล้ว ส่วนปากีสถานเองก็ต้องเร่งเวลา พยายามทำให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาวะปกติเช่นกัน

ขณะที่เรื่องของ “โลกร้อน” ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่การแก้ไขต้องใช้เวลายาวนาน ก็มีการ รายงานข้อมูลเพิ่มเติมจากแถลงการณ์สมาคมอุตุนิยมวิทยาอเมริกันเมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า ตามรายงานสภาวะสภาพภูมิอากาศประจำปีครั้งที่ 32 พบว่า ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกและระดับน้ำทะเลทั่วโลก รวมถึงปริมาณความร้อนในมหาสมุทรขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี พ.ศ.2564 โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจมากขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบทั่วโลก อีกทั้งยังไม่แสดงสัญญาณของการชะลอตัว ส่วนปีนี้จะเป็นเช่นไรต้องรอตามกัน

...

แต่สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณเตือนภัยที่เป็นโจทย์ใหญ่ว่า มนุษยชาติจะรับมือกันอย่างไร.

ภัค เศารยะ