ความต้องการพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการแบตเตอรี่ที่เก็บพลังงานเพิ่มสูงขึ้นตามเช่นกัน แต่การใช้แบตเตอรี่ก็มีข้อด้อยคือไม่ยั่งยืนเสมอไป และแบตเตอรี่จำนวนมากถูกผลิตและใช้ไปทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ที่ต้องใช้เวลาหลายร้อยหรือหลายพันปีในการย่อยสลาย นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามพัฒนาแบตเตอรี่แบบใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้งานที่ยั่งยืน
ล่าสุดทีมวิจัยจากศูนย์นวัตกรรมวัสดุแห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ได้สร้างแบตเตอรี่อิเล็กโทรไลต์ ซึ่งอิเล็กโทรไลต์สามารถแตกตัวเป็นไอออนอิสระเมื่อละลายน้ำหรือหลอมเหลว ทำให้สามารถนำไฟฟ้าได้ แบตเตอรี่อิเล็กโทรไลต์แบบใหม่นี้อาศัยวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพนั่นคือสารไคโตซานจากกระดองปู ทีมวิจัยอธิบายว่าแบตเตอรี่ใช้อิเล็กโทรไลต์เพื่อส่งไอออนไปมาระหว่างขั้วบวกและขั้วลบ และสามารถเก็บพลังงานจากแหล่งพลังลมขนาดใหญ่และพลังงานแสงอาทิตย์
ทีมวิจัยระบุว่าแหล่งไคโตซานที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดคือเปลือกกุ้ง ปู ที่สามารถหาได้ง่ายจากขยะอาหารทะเล ซึ่งอิเล็กโทรไลต์ไคโตซานนี้จะสลายตัวได้อย่างสมบูรณ์ภายใน 5 เดือน และจะทิ้งส่วนประกอบโลหะ ซึ่งในกรณีนี้คือสังกะสี แทนที่จะเป็นตะกั่วหรือลิเทียม โดยนำไปรีไซเคิลได้ นักวิจัยเผยว่าแบตเตอรี่สังกะสีและไคโตซานมีประสิทธิภาพด้านพลังงานถึง 99.7% หลังจาก 1,000 รอบของแบตเตอรี่ ทำให้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการจัดเก็บพลังงานที่เกิดจากลมและแสงอาทิตย์เพื่อถ่ายโอนไปยังโครงข่ายไฟฟ้า.