ชายแดนไทย-เมียนมาระส่ำระสายเต็มไปด้วยกลิ่นอายเขม่าดินปืนเมื่อกองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินรบ 2 ลำโจมตีสาดกระสุนใส่กองกำลังผสมกะเหรี่ยงที่กำลังปิดล้อมฐานอูเกรทะอ.ซูการี จ.เมียวดี
ทำให้เครื่องบินรบเมียนมาตีวงเลี้ยวรุกล้ำน่านฟ้าไทย 3-4 กม.บริเวณ ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ จากนั้นก็มีเสียงปืนเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว และกระสุนไม่ทราบชนิดลอยมาตกฝั่งไทยอยู่เป็นระยะ นับแต่เกิดการปะทะกันมาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2565 สร้างความแตกตื่นให้คนไทยอาศัยใกล้แนวสู้รบวิ่งหนีตายพากันไปหลบยังที่ปลอดภัย
กระทั่ง “กองทัพอากาศไทย” ส่งเครื่องบินขับไล่เอฟ 16 จำนวน 2 ลำ ลาดตระเวนทางอากาศตามแนวชายแดน อ.พบพระ เพื่อส่งสัญญาณเตือนกองทัพเมียนมามิให้รุกล้ำน่านฟ้าไทยซ้ำอีก จนสถานการณ์คลี่คลายเบื้องต้นมีรายงานรถกระบะชาวบ้านวาเล่ย์เหนือเสียหาย 1 คัน และบ้านเรือนในหมู่บ้านหมื่นฤาชัยเสียหาย 3 หลัง
โชคดีไม่มีใครบาดเจ็บแต่ชาวบ้านต่างจิตตกกับแรงระเบิดที่ทำให้แผ่นดินสะเทือนราวแผ่นดินไหว

เหตุการณ์นี้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันถึงกรณี “การนำเครื่องบินรบเอฟ 16” ขึ้นบินรับมือเครื่องบินรบเมียนมาล่าช้าหรือไม่? ทำให้โฆษกกองทัพอากาศออกมาชี้แจงยืนยันการปฏิบัติตามขั้นตอนโดยนักบินพร้อมวิ่งขึ้นใน 5 นาที ระยะทาง 100 กว่าไมล์ใช้เวลาประมาณ 10 กว่านาทีก็ถึงเป้าหมาย
...
ทั้งสั่งการผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ ประจำสถานเอกอัครราชทูตย่างกุ้ง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเมียนมาแจ้งเตือนหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในอนาคต การข่าวชายแดน จ.ตาก ให้ข้อมูลว่า
การเปิดฉากปะทะสู้รบกันระลอกนี้เกิดจากกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู สนธิกำลังกับกะเหรี่ยงเคเอ็นดีโอ และกลุ่มพีดีเอฟไม่น้อยกว่า 200 นาย เข้าปิดล้อมเปิดฉากโจมตีเพื่อยึดค่ายทหารเมียนมาที่ฐานอูเกรทะ อ.ซูการี
กลายเป็นเหตุปะทะสู้รบด้วยอาวุธปืน เครื่องยิงลูกระเบิดตอบโต้กันอย่างหนัก ทหารเมียนมาประจำฐานอูเกรทะไม่ทันตั้งรับมีกำลังน้อย ทำให้กองกำลังผสมกะเหรี่ยงเคเอ็นยูยึดที่มั่นแห่งนี้ตั้งแต่ 30 มิ.ย.2565
ปัจจัยสำคัญ “การสู้รบระลอกนี้เพื่อแย่งชิงฐานอูเกรทะนั้น” สาเหตุเพราะว่าแม้รัฐบาลเมียนมามีอำนาจบริหารประเทศแต่ไม่อาจควบคุมได้เบ็ดเสร็จ “บางส่วนเป็นเขตอิทธิพลกลุ่มชาติพันธุ์” อย่างเช่น พื้นที่ จ.เมียวดีเป็นเขตอิทธิพลของกะเหรี่ยงเคเอ็นยู แต่ในบางจุดยุทธศาสตร์นั้นทหารเมียนมามักตั้งฐานยึดครองไว้
เช่นเดียวกับ “ฐานอูเกรทะก็เป็นหนึ่งฐานย่อยของกองทัพเมียนมาที่มีทหารประจำการ 10–20 นาย” แต่จุดนี้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญต่อการส่งกำลังบำรุง หรือการส่งเสบียงอาหารของกองทัพเชื่อมต่อกับ “ฐานทีตาเหล่” ที่ตั้งกองบัญชาการยุทธวิถีทางทหาร มีทั้งลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และที่ตั้งปืนใหญ่หลายชนิด

หากย้อนไปสมัยก่อน ฐานอูเกรทะแห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ของกะเหรี่ยงเคเอ็นยู “ทหารเมียนมา” ได้มาร่วมกับกองกำลังดีเคบีเอเข้ายึดไปแล้ว เมื่อมีฐานทหารเมียนมาอยู่ในพื้นที่เขตปกครอง ทำให้กะเหรี่ยงเคเอ็นยูไม่อาจเกิดความเป็นเอกภาพในการปกครอง และชาวบ้านกะเหรี่ยงก็หวาดกลัวไม่อาจออกไปทำมาหากินได้เป็นปกติ
ดังนั้น กะเหรี่ยงเคเอ็นยูพยายามบุกโจมตีให้ออกไปหลายครั้ง “แต่กลับไม่เป็นผล” เพราะฐานอูเกรทะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญถ้ากองทัพเมียนมาสูญเสียไปก็เสมือนถูกตัดเส้นทางส่งเสบียงอาหารทันที เหตุนี้กะเหรี่ยง เคเอ็นยูมุ่งยึดฐานแห่งนี้ “สนธิกำลังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร” ผลักดันออกจากพื้นที่นี้สำเร็จชั่วคราว
ไม่นานนัก “กองทัพเมียนมา” ส่งกำลังทหารเข้ามาเสริมหลายร้อยนาย เพื่อช่วยกอบกู้ฐานอูเกรทะคืน แต่ก็ถูกวางกำลังดักซุ่มยิงโจมตีบนเส้นทางที่มุ่งหน้าไปฐานอูเกรทะ ทำให้สถานการณ์บานปลายหนักขึ้นด้วย “กองทัพเมียนมา” ได้ระดมยิงปืนใหญ่สนับสนุนจาก “ฐานทีตาเหล่” ที่ห่างออกไป 5-6 กม.อย่างต่อเนื่อง
ทั้งส่งเครื่องบินรบมิก 29 ยิงจรวดใส่กองกำลังผสมกะเหรี่ยงเคเอ็นยูในรัศมีพื้นที่สู้รบอันนำมาซึ่งบางช่วง “เครื่องบินรบเมียนมา” รุกล้ำน่านฟ้าเขตไทยลึกเข้ามาเขตบ้านวาเล่ย์ใต้และบ้านวาเล่ย์เหนือ 4 กม.

...
ด้วยฐานอูเกรทะเป็นเนินเขาติดแนวชายแดนตรงข้ามบ้านวาเล่ย์ใต้ต.วาเล่ย์ อ.พบพระ ทำให้มองเห็นการสู้รบชัดเจน ล่าสุดมีรายงานว่า “กองกำลังผสมกะเหรี่ยง KNU” (วันที่ 3 ก.ค.2565) ถอนกำลังออกจากฐานอูเกรทะกลับฐานที่มั่นเดิมแนวพรมแดนเมียนมา-ไทย ทำให้เสียงปืนการสู้รบชายแดนไทย-เมียนมาสงบลง
เบื้องต้นมีรายงานการสูญเสียและบาดเจ็บกันทั้ง 2 ฝ่าย และมีชาวบ้านเมียนมาถูกสะเก็ดระเบิดลูกหลงจากการปะทะครั้งนี้หลายสิบคนถูกส่งมารักษาตัวในโรงพยาบาลแม่สอด แล้วยังมีผู้หนีภัยอยู่ศูนย์อพยพ 500 กว่าคนใน 3 แห่ง คือ บ้านมอเกอร์ไทย บ้านวาเล่ย์เหนือ บ้านหมื่นฤาชัย ที่ได้รับดูแลช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม
ประเด็นมีอยู่ว่า “การสู้รบยืดเยื้อยาวนาน” โดยเฉพาะครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อ “คนไทยอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย–เมียนมา” เพราะด้วยการใช้กระสุนปืนใหญ่ยิงปะทะกันทั้งวันทั้งคืน แต่เมื่อลูกปืนใหญ่ตกลงพื้นที่สู้รบมักส่งผลให้แผ่นดินสะเทือนมาถึงฝั่งไทย ทำให้บ้านเรือนชาวบ้านสั่นไหวกันเป็นระยะเช่นกัน
ไม่เท่านั้น “กระสุนปืนยังข้ามมาตกฝั่งไทยเป็นครั้งคราว” สร้างความเสียหายให้ทรัพย์สินของประชาชนอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนพากันแตกตื่นวิ่งหนีลงหลุมหลบภัยในบ้านจ้าละหวั่นแล้วทุกคืน “ชาวบ้านต้องเตรียมความพร้อมอพยพหนีตลอดเวลา” ทำให้บ้านหลายหลังต้องลงทุนทำหลุมหลบภัยไว้เป็นของตัวเอง
ผลที่ตามมาชาวบ้านหวาดระแวงเครียดสะสม ไม่อาจทำมาหากิน กลัวถูกลูกหลงเกิดอันตราย

...
ประการถัดมา หากยังพอจะจำกันได้ “การค้าชายแดนไทย-เมียนมา” ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่เหตุคาร์บอมบ์เชิงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพไมตรีและการค้า ขาย กลายเป็นการตอกย้ำไม่อาจเปิดด่านได้ส่งผลให้ “นักท่องเที่ยว” ไม่กล้าเดินทางมาจับจ่ายซื้อสินค้าเหมือนดังเดิม
ส่วน “ด่านพรมแดนไทย–เมียนมา 2” เปิดให้เฉพาะการขนส่งสินค้า “แต่ก็ไม่คึกคักเท่าที่ควร” นับแต่มีการสู้รบระลอกใหม่นี้ “พ่อค้าชะลอส่งสินค้าลง” เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะสินค้าเพราะก่อนนี้กะเหรี่ยงเคเอ็นยูเผารถบรรทุกสินค้าก่อนถึงตัวเมือง
จ.กอกาเลก รัฐกะเหรี่ยงเสียหายหลายคัน
จนรถบรรทุกสินค้าไม่กล้าไปไกล มักนำสินค้าไปเก็บคลังสินค้าที่ จ.เมียวดี แล้วตีรถกลับทันที
ฉะนั้น ความขัดแย้งภายในเมียนมานี้อาจใช้เวลาอีกนาน “หากไม่เปิดโต๊ะเจรจาอย่างจริงใจ” กล่าวคือกลุ่มกะเหรี่ยงเคเอ็นยูต้องการให้ทหารเมียนมาออกจากเขตปกครองในรัฐกะเหรี่ยงทั้งหมด ตราบใดที่ทหารเมียนมายังอยู่ในพื้นที่นี้ ก็เป็นเสมือนความไม่จริงใจส่งผลให้กะเหรี่ยงเคเอ็นยูก็ยังไม่เดินเข้าร่วมเจรจาด้วยนี้
ทว่าความไม่สงบนี้ยังส่งผลให้ “ชาวเมียนมาลักลอบเข้าเมืองเยอะขึ้น” คาดว่าน่าจะหนีความอดอยากจากการสู้รบกันในประเทศแล้ว “ผู้ลักลอบ” ยังพึ่งพานายหน้าเถื่อนเป็นผู้นำพาด้วยการเดินข้ามแม่น้ำเมยเข้ามาในเขตไทยแล้วเดินเท้าตามเส้นทางภูเขาไปยังจุดรอรถยนต์พื้นที่ จ.นครสวรรค์นำส่งปลายทางพื้นที่ตอนในประเทศไทย
เพื่อขายแรงงานหักค่าแรงจ่ายให้นายหน้าคนละ 20,000 บาท เท่าที่เจอมักลักลอบกันมาแบบเป็นครอบครัว “เจ้าหน้าที่ไทย” สามารถจับกุมได้ทุกวัน “จนโรงพักล้น” ต้องรีบผลักดันกลับประเทศต้นทาง แต่ก่อนส่งตัวกลับเราต้องดูแลตามหลักมนุษยธรรม ทำให้เสียงบประมาณการเลี้ยงดู และตรวจคัดกรองโควิด-19 มากมาย
...
นี่เป็นผลพวงจาก “การสู้รบของข้างบ้าน” ที่ก่อผลกระทบต่อคนไทยอาศัยตามชายแดน “ต้องคอยวิ่งหลบกระสุนทุกครั้งเมื่อมีการปะทะกัน” ที่ได้แต่นั่งรอหลักประกันจาก “ภาครัฐ” ในการสร้างกลไกความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าที่เป็นอยู่นี้.
