กลายเป็นประเด็นฮือฮา หักหน้าสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเต็มๆ หลังสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหม “รัสเซีย” ประกาศจบภารกิจฝึกซ้อม บริเวณพื้นที่พรมแดนยุโรปตะวันออกและยูเครน
สั่งทหาร ยานเกราะ รถถัง เดินทางกลับกรมกอง พร้อมยิงคำเย้ยหยัน วันที่ 15 ก.พ. ประวัติศาสตร์จะจดจำว่าเป็นวันที่เครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อของตะวันตกประสบความล้มเหลวอย่างน่าอับอาย หลังหลายเดือนที่ผ่านมา พากันประโคมข่าวทุกช่องทาง ว่ารัสเซียจะปฏิบัติการรุกราน ผนวกดินแดนยูเครน
กางแผนปฏิบัติการมาเป็นฉากๆ รัสเซียจะเปิดฉากรุกช่องทางใด ความสูญเสียจะมากน้อยเพียงใด ในระดับที่สื่อสหรัฐฯ บางช่องเผลอปล่อยไก่ เปิดช่องไลฟ์สด “รัสเซียบุกแล้ว” หรือ “เริ่มรุกรานวันพุธนี้” ตามด้วยคำขู่ถี่ยิบจากเหล่าผู้นำตะวันตก โดยเฉพาะ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ย้ำตลอดเวลาว่า บุกแน่ๆ และรัสเซียต้องจ่ายแพง เมื่อเผชิญกับมหกรรมมาตรการคว่ำบาตรที่จะตามมา
ภาษาชาวบ้านช็อตนี้ แทบจะเรียกได้ว่าเสียหมา คำพูดของตะวันตกดูไม่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาทันที จนสามารถมองย้อนกลับไปที่คำถามว่า การร้องแรกแหกกระเชอครั้งนี้ มีเป้าประสงค์อันใด ต้องการหา Pretext ข้ออ้างในการคว่ำบาตรรัฐบาลรัสเซีย หรือหันเหความสนใจของประชาชนจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศหรือไม่

...
เพราะอย่าลืมว่า ชาติตะวันตกเองมีความเชี่ยวชาญในการสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองมาแล้ว จนสามารถปฏิบัติรุกราน “อิรัก” สำเร็จเมื่อปี 2546 ด้วยข้อกล่าวหาหลอกลวงคนทั้งโลกว่า รัฐบาลอิรักของนายพลซัดดัม ฮุสเซน ครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีจริง และประเทศอิรักต้องประสบความย่อยยับจนถึงทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม หากไม่ฟังคำประกาศของนักการเมืองชาติตะวันตก และย้อนกลับไปดูที่ต้นตอว่า ยูเครนคือดินแดนรัสเซียโบราณและภูมิภาคสำคัญของสหภาพโซเวียต ที่แยกตัวออกไปหลังโซเวียตล่มสลาย ซึ่งครานั้นสิ่งที่ยูเครนเอาไปด้วยคือ หัวรบนิวเคลียร์ 1 ใน 3 ของรัสเซีย ฝูงบินทิ้งระเบิดขนาดหนัก 1 ใน 6 ของกองทัพอากาศรัสเซีย (สองอย่างนี้ถูกทำลายกับชำแหละอะไหล่ขายไปแล้ว) ไม่รวมถึงทรัพยากรทางธรรมชาติอันมหาศาล
มองในมุมนี้ คำเตือนถึงการรุกรานตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ก็ยังพอฟังขึ้นอยู่ดี ไม่ใช่เพลานี้ เพลาหน้าก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีนักวิเคราะห์ความมั่นคงมองว่า 1.คำสั่งถอนทหารกลับกรมกองครั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าสุดท้ายแล้วมีจำนวนมากน้อยเพียงใด อาจเป็นหน่วยสนับสนุนที่มาร่วมแสดงพลังเฉยๆ ไม่ใช่ “หน่วยหัวกะทิ” สำหรับการบุกทะลวง ต้องอย่าลืมว่า กองกำลังรัสเซียที่มาขยับเขยื้อนในพื้นที่รอบๆพรมแดนยูเครนนั้น คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของกองกำลังรบทั้งหมดของรัสเซีย
และ 2.การเคลื่อนพลรบเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ย่อมหมายความว่าโครงสร้างพื้นฐานทางความมั่นคงต้องตามเข้ามาด้วย รัสเซียสามารถทดสอบได้ว่า การเคลื่อนกำลังประสบปัญหาความล่าช้าประการใด ยังขาดเหลืออะไร และสามารถต่อเติมให้สมบูรณ์ได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่นคาบสมุทรไครเมีย ที่รัสเซียผนวกกลับคืนไปเมื่อปี 2557 และถูกจับตาด้านทางความมั่นคงมาโดยตลอด พอเหตุความตึงเครียดครั้งนี้เกิดขึ้น การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวใดๆ ก็จะถูกมองในลักษณะ “ภาพรวม” ทั้งที่เป็นการโยกย้ายอย่างมีนัย เสริมทัพฝูงบินเฮลิคอปเตอร์จู่โจมรุ่นใหม่ ไปจนถึงฝูงบินสนับสนุนการรบภาคพื้นดินรุ่นใหม่ เข้าไปเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ดูจาก “เวลา” ไทม์ไลน์แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่รัสเซียต้องปฏิบัติการทหารในช่วงนี้ การซ้อมรบในเบลารุส ทางภาคเหนือของยูเครน พรมแดนอยู่ห่างจาก “กรุงเคียฟ” เมืองหลวงของยูเครนไปเพียง 88 กิโลเมตร ยังต้องดำเนินไปจนถึงวันนี้ 20 ก.พ. อีกทั้งสภาพแวดล้อมก็ไม่ได้เอื้ออำนวยเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ พื้นดินในยุโรปตะวันออก มีสภาพเป็นหิมะผสมดินโคลน ยังไม่กลายเป็นดินแข็งแบบในช่วง มี.ค.-เม.ย. ยานเกราะไปได้ แต่รถเสบียงลำบาก
นอกจากนี้ ในเชิงความชอบธรรมทางการเมืองแล้ว รัสเซียเองก็จำเป็นต้องหา “Pretext” ข้ออ้างเช่นเดียวกัน ไม่สามารถขยับตัวสุ่มสี่สุ่มห้าได้ ซึ่งในการเจรจาระหว่าง “วลาดิเมียร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย กับ “โอลาฟ โชลซ์” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่ช่วงหนึ่ง ผู้นำปูตินพูดถึงสงครามในยุโรปเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษก่อน เรื่ององค์การ NATO ส่งทหารเข้าแทรกแซงสถานการณ์ใน “ยูโกสลาเวีย” ซึ่งผู้นำโชลซ์ตอบว่า เป็นการตอบสนองเหตุต่อฆาตกรรมหมู่ที่เกิดขึ้น ทำให้ถูกสวนทันควันว่า จากการประเมินสถานการณ์ของรัสเซีย สิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคดอนบาส (ยูเครนตะวันออก) ก็ถือเป็นเหตุ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
...
ในการเจรจาการเมืองระดับโลก คำพูดทุกอย่างมีความหมาย ในเมื่อเยอรมนีมองว่า นาโตต้องเข้าแทรกแซงเพื่อยับยั้งความรุนแรงเป็นสิ่งที่ทำได้ ก็ย่อมเปิดทางให้รัสเซีย มองว่าการเข้ายับยั้งการสู้รบในดอนบาสที่ดำเนินมากว่า 7 ปี ก็ต้องทำได้เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ทุกอย่าง จึงขึ้นอยู่กับว่า “รัสเซีย” จะเดินเกมต่อเช่นไร แต่ดูแล้วจะถอยหรือไปต่อ ก็มีแต่ได้เปรียบเต็มประตู.
วีรพจน์ อินทรพันธ์