เป็นเวลา 31 ปีที่ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ขององค์การนาซาและองค์การอวกาศยุโรป ถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลกเมื่อ เม.ย.2533 ได้ขยายมุมมองเกี่ยวกับจักรวาล เก็บข้อมูล จับภาพสุดทึ่งมากมาย ทำให้นักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ได้เห็นดวงดาว ดาราจักรหรือกาแล็กซีต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

กล้องฮับเบิลตรวจจับแสงอินฟราเรดได้ก็จริง แต่ก็ทำงานสังเกตวัตถุในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นและแสงอัลตราไวโอเลตเป็นหลัก จึงมีความพยายามพัฒนากล้องที่ตรวจจับแสงอินฟราเรดเป็นหลัก เพื่อเสริมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศและกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในที่สุดก็ได้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่จะสอดส่องหาวัตถุที่เลือนรางหรือจางๆได้ไกลกว่ากล้องฮับเบิล ซึ่งกล้องเจมส์ เว็บบ์ ประกอบด้วยกระจกสีทองขนาดยักษ์กว้าง 6.5 เมตร ติดตั้งเครื่องมือตรวจจับแสงอินฟราเรด 4 แบบคือ NIRCam, NIRSpec, MIRI และ FGS-NIRISS ทั้งนี้ การออกแบบให้กระจกใหญ่ขึ้นจะช่วยให้มีพื้นที่ผิวในการเก็บแสงมากขึ้น โดยจะมองหาวัตถุจางๆได้ชัดเจนกว่ากล้องฮับเบิล 10-100 เท่า

คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้มั่นใจว่าภาพที่จะได้จากกล้องเจมส์ เว็บบ์ ต้องมีรายละเอียดมากขึ้นและน่าตื่นเต้น อีกทั้งเมื่อเทียบกันแล้ว กล้องฮับเบิลลอยอยู่ตรงวงโคจรต่ำของโลก แต่กล้องเจมส์ เว็บบ์จะเคลื่อนออกไปไกลกว่านั้นมาก โดยจะไปยังจุดสมดุลแรงโน้มถ่วงที่ 2 หรือรู้จักในชื่อจุดลากรองจ์ ที่ 2 และถึงแม้กล้องโทรทรรศน์ทั้ง 2 ตัวจะมีขนาดใหญ่ แต่กล้องเจมส์ เว็บบ์ ก็มีขนาดใหญ่กว่ามาก ดังนั้น ประสิทธิภาพในการมองเข้าไปในจักรวาลห้วงลึกจึงแตกต่างกันมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กล้องเจมส์ เว็บบ์ ไม่ได้มาแทนที่กล้องฮับเบิล เพราะถึงแม้การทำงานของกล้องฮับเบิลจะมีข้อบกพร่องบ้างในช่วงหลายปีมานี้ แต่เครื่องมือวิทยาศาสตร์ของฮับเบิลก็ยังคงแข็งแกร่ง กล้องโทรทรรศน์อวกาศทั้ง 2 ก็ถูกตั้งค่าให้สังเกตร่วมกัน แม้จะอยู่ห่างไกลกันในอวกาศ ซึ่งกล้องเจมส์ เว็บบ์เตรียมปล่อยสู่อวกาศ 24 ธ.ค.นี้ และกำลังจะเป็น กล้องสังเกตการณ์อวกาศที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

...

ต่อจากนี้ก็เพียงเฝ้ารอการค้นพบอันมหัศจรรย์ในอวกาศห้วงลึก.

ภัค เศารยะ