ฝุ่นควันการถอนทหารจากอัฟกานิสถานยังไม่ทันจางหาย การเคลื่อนไหวทางความมั่นคงรอบใหม่ของ “สหรัฐอเมริกา” ก็อุบัติขึ้นอีกครั้ง เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลังเกิดการจับมือระดับกระเทือนวงการ สหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย ประกาศตัวเป็นภาคีด้านความมั่นคงแห่งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มุ่งผลักดันออสเตรเลียให้กลายเป็นเสือตัวใหม่ทางการทหาร ภายใต้ชื่อสนธิสัญญา “ออกัส” (AUKUS) ซึ่งมาจากชื่อย่อของทั้งสามประเทศ AU-UK-US

โดยมีรายละเอียดว่า ชาติไตรภาคีจะแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร ข่าวกรอง และเทคโนโลยี ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เทคโนโลยีควอนตัม แต่หัวใจสำคัญ คือออสเตรเลียจะได้รับสิทธิในการซื้อขีปนาวุธร่อน ครูซ มิสไซล์ ทั้งหลายที่สหรัฐฯและอังกฤษมีอยู่ในสต๊อก เช่น โทมาฮอว์ก หรือสตอร์ม ชาโดว์

ตามด้วยเทคโนโลยี “อาวุธลับ” เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ที่ยูเอสและยูเค พร้อมที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ โนว์-ฮาว ให้ทั้งหมด รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับการพัฒนาและซ่อมบำรุงเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยเลือกเมืองแอดิเลด ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย เป็นศูนย์ต่อเรือใหญ่

เดิมทีออสเตรเลียครอบครองอาวุธใต้สมุทรอยู่แล้วเป็นจำนวน 6 ลำ ทั้งหมดเป็นเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้าชั้นคอลลินส์ ซึ่งกำลังจะหมดอายุการใช้งานในปี 2569 มีระยะเวลาการปฏิบัติการในทะเลประมาณ 70 วัน ซึ่งจากแผนการออกัสจะทำให้ออสเตรเลียครอบครองเรือดำน้ำปรมาณูจำนวน 8 ลำ

แม้ไทม์ไลน์จะยังไม่ชัดเจนว่า อาวุธลับ 8 ลำดังกล่าวจะมาถึงเมื่อใด เพราะโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชี้แจงเพียงว่า 18 เดือนหลังจากนี้ (หรือจนถึงประมาณปี 2566) จะเป็นช่วงเวลาของการประสานงานให้คำปรึกษาระหว่างสามประเทศว่าจะดำเนินการเช่นไรที่ไม่ขัดต่อหลักสากล อีกทั้งออสเตรเลียก็ไม่เคยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านนิวเคลียร์มาก่อน

...

แต่สิ่งที่แน่ชัดคือ หากสำเร็จเสร็จสิ้น ออสเตรเลียก็จะกลายเป็นประเทศที่ 7 ของโลก ที่ครอบครองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ต่อจากสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และอินเดีย กระนั้น ออสเตรเลียให้คำมั่นว่า ถึงจะได้ครอบครองเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ก็จะไม่นำไปสู่การครอบครอง “อาวุธนิวเคลียร์” เป็นอันขาด

ในเชิงความมั่นคงแล้ว เรือดำน้ำทั้งหลาย ถือเป็นอาวุธสำคัญอย่างยิ่งในการคานอำนาจ ตามหลักการป้องปรามอาวุธด้วยอาวุธ หรือดีเทอเรนซ์ หรือให้ทุกฝ่ายเข้าใจง่ายๆว่า การจะขยับเขยื้อนกำลังทหารใดๆ ควรคิดให้รอบคอบ เพราะมีสิทธิที่จะ “ตายตกตามกัน” เฉกเช่นเหตุการณ์ในยุคสงครามเย็นกว่าครึ่งศตวรรษก่อน ที่สหรัฐฯและรัสเซียต่างมีเรือดำน้ำนิวเคลียร์จ่อคอหอยกันและกัน โดยเฉพาะในภูมิภาคขั้วโลกอาร์กติก ต่างฝ่ายมีเรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ (สหรัฐฯ) และไต้ฝุ่น (รัสเซีย) พร้อมจะยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ตามคำสั่งอยู่ทุกเมื่อ

การเสริมสร้างศักยภาพด้านเรือดำน้ำแก่ออสเตรเลีย เห็นได้ชัดว่าสหรัฐฯต้องการสร้างความสมดุลทางความมั่นคงในภูมิภาคแปซิฟิกกันใหม่ หลังก่อนหน้านี้กระทรวงกลาโหมได้แสดงความเห็นต่อสภาคองเกรสมาตลอดว่า กองทัพเรือจีนกำลังจะเป็นภัยคุกคามทางทะเลของสหรัฐฯในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากมีการเร่งต่อเรือรบ โดยเฉพาะ “เรือดำน้ำ” อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลอย่างเป็นทางการ ระบุว่า จีนครอบครองเรือดำน้ำแล้วถึง 74 ลำ แต่ขณะที่ข่าวกรองสหรัฐฯเคยประเมินว่า อาจจะมีกว่า 90 ลำ และจะเพิ่มไปเรื่อยๆจนทะลุ 100 ลำ

“หากเปรียบเทียบกันในเชิงปริมาณและค่าใช้จ่ายแล้ว ถือว่าอเมริกาเสียเปรียบอย่างมาก โดยสหรัฐฯครอบครองเรือดำน้ำ 68 ลำ ในจำนวนนี้มีศักยภาพยิงอาวุธนิวเคลียร์ 14 ลำเมื่อเทียบกับจีน ซึ่งแม้จีนจะมีเรือดำน้ำนิวเคลียร์เพียง 12 ลำ ในจำนวนนี้ยิงอาวุธนิวเคลียร์ได้ 6 ลำ แต่ยุทธศาสตร์ของจีนมีความชัดเจนมากกว่าในเรื่องคอสต์-เอฟเฟกทีพระยะยาว มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา ซ่อมบำรุงน้อยกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากฝูงเรือดำน้ำจีนส่วนใหญ่เป็นดีเซล-ไฟฟ้า แต่มีประสิทธิภาพไล่เลี่ยเรือดำน้ำสหรัฐฯที่เป็นนิวเคลียร์ทั้งหมด และมีค่าดูแลสูงมาก”

ทั้งยังชัดเจนว่า อินโด-แปซิฟิก กำลังจะเข้าสู่ห้วงเวลาของการแข่งขันสะสมอาวุธอีกครั้งไม่ต่างกับในอดีต และตอกย้ำทฤษฎี “สงครามเย็นยุคใหม่” ระหว่างขั้วอำนาจตะวันตก-ตะวันออก พร้อมแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการกลับมาเป็นเจ้าอิทธิพลของภูมิภาค ตามนโยบายเบนเข็มสู่เอเชียสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ไบเดนพยายามรีแบรนด์ใหม่ และบรรดาสื่อสหรัฐฯต่างเรียกกันว่า “กลับมาเบนเข็มสู่เอเชีย” (Re–pivot to Asia) เช่นเดียวกับมหาอำนาจอังกฤษ ที่เมื่อเดือนที่ผ่านมา นำกองเรือราชนาวีอันเกรียงไกรกลับมาโลดแล่นโชว์แสนยานุภาพในทะเลจีนใต้

น่าสนใจว่า เป้าหมายต่อไปของสหรัฐฯ ในการสร้าง “ตาข่ายล้อมจีน” คืออะไร จะมีการเข้ามาจับขั้วอาเซียนโดยวัดจากใครโปรจีนไม่โปรจีนด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดครับผม.

วีรพจน์ อินทรพันธ์