“สังคมผู้สูงอายุ” กลายเป็นวิกฤติใหญ่ระดับชาติของหลายๆ ประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข รวมถึงประเทศไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่สังคมคนแก่อย่างสมบูรณ์ ภายในปี 2027 โดยจะมีผู้สูงวัยถึง 30% ของประชากรกว่า 66 ล้านคน มันก็หนักเอาการอยู่!! แต่เอาเข้าจริงๆแล้วที่เป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้กันเลยคือ หลายๆ ประเทศกำลังเผชิญกับ “วิกฤติเยาวชนเกียจคร้าน ไม่ทำงาน และขาดแรงจูงใจในชีวิต” ถึงขนาดมีการบัญญัติศัพท์เรียกพวกเขาว่า ชาวนีต “NEET” บ่งบอกสถานะของเยาวชนรุ่นใหม่ที่ไม่เรียนหนังสือ, ไม่ทำงานและไม่เคยผ่านการฝึกอบรม
ถ้าประเทศไหนมี “ชาวนีต” ล้นบ้านล้นเมือง มันก็ยุ่งล่ะสิ เพราะเราคงขาดแรงงานรุ่นใหม่ที่จะมารับไม้ต่อเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต เหมือนในอดีตที่ “ชาวเบบี้บูมเมอร์” รุ่นปู่ย่าตายายเคยแบกภาระหลังแอ่นสร้างชาติสร้างเศรษฐกิจโลกจนเจริญรุดหน้ามาหลายทศวรรษ
คำว่า “NEET” เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมของอังกฤษ ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 ย่อมาจาก “Not in Education, Employment or Training” ใช้บ่งบอกสถานะของเยาว ชน อายุระหว่าง 16-24 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา, การทำงาน หรือการฝึกอบรม ภายหลังถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกด้วยบริบทที่แตกต่างกันออกไป
ในบางประเทศใช้คำว่า “NEET” เพื่ออธิบายถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เยาวชนไม่มีทุนทรัพย์ ทำให้ขาดโอกาสในการเรียนและการทำงาน ขณะที่อีกหลายๆประเทศเยาวชนเหล่านี้เลือกจะเป็น “NEET” ด้วยความสมัครใจ ทั้งๆที่มีโอกาสทางสังคมและโอกาสด้านการศึกษา เพราะมาจากครอบครัวมีฐานะ
...
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ “ญี่ปุ่น” ให้นิยามชาวนีต หรือนีตโตะ ว่าเป็นคนขี้เกียจเฉื่อยแฉะ และใช้ชีวิตสุขสบายไปวันๆอย่างไร้จุดหมาย พวกเขาไม่ยอมช่วยทำงานบ้าน, ไม่ยอมเรียนหนังสือ, ไม่เคยเข้าฝึกอบรมเพื่อพัฒนาตัวเอง และไม่ยอมหางานทำ โดยชาวนีตโตะในญี่ปุ่น มีอายุตั้งแต่ 15-34 ปี คนกลุ่มนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม เพราะปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังเต็มไปด้วยคนไม่ทำงาน เนื่องจากทนแบกรับความเครียดและแรงกดดันจากค่านิยมบ้างานหนักไม่ไหว องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า อาจมีชาวนีตโตะอยู่ในญี่ปุ่นมากกว่า 1 ล้านคน จากจำนวนประชากร 126 ล้านคน นี่ยังไม่นับรวมฟรีแลนซ์และคนทำอาชีพอิสระอีกหลายล้านคน ที่เข้าๆออกๆจากตลาดแรงงานเป็นว่าเล่น
ทั้งๆที่เป็นคนวัยเรียนและวัยทำงานแท้ๆ แต่ชาวนีตโตะกลับเลือกเก็บตัวอยู่ในบ้าน หรือไม่ก็สิงสถิตตามร้านเกมและร้านปาจิงโกะตั้งแต่เช้ายันค่ำ ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยให้หมดไปวันๆ โดยขาดแรงจูงใจ ชาวนีตโตะมักอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ทำตัวเป็นลูกแหง่ให้พ่อแม่หาเลี้ยง บ้านไหนพ่อแม่ร่ำรวยก็มีปัญญาหาเลี้ยงลูกไปได้ทั้งชีวิต แต่ครอบครัวที่พ่อแม่แก่เฒ่าเกษียณแล้ว ยังต้องทำมาหากินงกๆๆเพื่อหาเงินเลี้ยงลูกบังเกิดเกล้า คิดดูสิว่าจะรันทดหดหู่ขนาดไหน
พวกชาวนีตโตะมักอ้างว่า เบื่อชีวิตการทำงานที่หนักหนา และเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง จำนวนไม่น้อยยอมออกจากโรงเรียน เพราะเข้ากับเพื่อนๆไม่ได้ หรือโดนบูลลี่รังแกจนเกลียดกลัวการไปโรงเรียน เลวร้ายสุดคือชาวนีตที่ไม่ออกจากบ้านเลย เลือกที่จะปลีกตัวโดดเดี่ยวจากสังคมเป็นเวลานานๆ
อนาคตเป็นของคนรุ่นใหม่!! เรียนหนัก...แข่งขันหนัก...ทำงานหนัก...แล้วชาติเจริญ อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของ “ชาวนีต” ผลผลิตจากทศวรรษที่หายไป.
มิสแซฟไฟร์