ทศวรรษนี้เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ต้องลงมือทำเพื่อมนุษยชาติในการก้าวไปข้างหน้าอย่างสำคัญ โดยเฉพาะการจัดการวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก๊าซมีเทนจัดว่าเป็นเรื่องใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนึ่งในตัวช่วยแก้ปัญหาก็คือจำเป็นต้องมีเครื่องมือตรวจจับ ค้นหาและแก้ไขการรั่วไหลของก๊าซมีเทนจากแหล่งก๊าซมีเทนที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีถึง 80%
เมื่อเร็วๆนี้ นักวิทยาศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา นำโดยห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น หรือเจพีแอล หน่วยงานขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ได้ประกาศแผนการติดตามแหล่งที่มาของก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้งานกลุ่มดาวเทียมไฮเปอร์สเปกตรัมที่เป็นส่วนหนึ่งของคาร์บอน แม็ปเปอร์ (Carbon Mapper) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มุ่งให้ข้อมูลเพื่อช่วยจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559
ดาวเทียม 2 ดวงแรกของคาร์บอน แม็ปเปอร์ มีเป้าหมายปล่อยออกจากพื้นโลกในปี พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย เทคโนโลยีการถ่ายภาพสเปกโตรมิเตอร์ (spectrometer) ที่ล้ำสมัยและใช้อย่างแพร่หลายในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ปกติแล้วภาพถ่ายดิจิทัลจะแบ่งแสงที่มองเห็นได้ออกเป็น 3 สี คือแดง เขียว น้ำเงิน แต่ภาพถ่ายสเปกโตรมิเตอร์จะแบ่งแสงออกเป็นหลายร้อยสี เผยให้เห็นสัญญาณสเปกตรัมที่เป็นเอกลักษณ์ของโมเลกุล เช่น ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ทั้งนี้ เครื่องมือสเปกโตรมิเตอร์ถ่ายภาพบน ดาวเทียมของคาร์บอน แม็ปเปอร์ จะมีความละเอียดสูง สามารถวัดปริมาณและหาแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาดหวังว่าจะจัดการกับวิกฤติสภาพอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
...
ด้านเจมส์ กราฟ ผู้อำนวยการคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโลกของเจพีแอล เชื่อว่าการวิจัยนี้จะให้ข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกและอนาคตของสภาพภูมิอากาศของโลก ส่วนผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียเกวิน นิวซัม ก็เผยว่าดาวเทียมกลุ่มนี้จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่สำคัญทีเดียว.
ภัค เศารยะ