พรรคการเมืองที่เป็นผู้นำรัฐบาลเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีไม่กี่พรรค ที่เราจำได้กันก็คือพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) และพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี (SPD) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีก็มักจะมาจาก 2 พรรคนี้
นายกฯ จากพรรค CDU ก็เช่น นายคอนราด อาเดเนาร์ (1949-1963) นายลุดวิก แอร์ฮาร์ด (1963-1966) นายควร์ทเกออร์ค คีซิงเงอร์ (1966-1969) นายเฮลมุท โคล (1982-1990 และ 1990-1998) และ นางอังเกลา แมร์เคิล (2005-ปัจจุบัน)
ส่วนนายกฯจากพรรค SPD ก็เช่น นายวิลลี บรันดท์ (1969-1974) นายเฮลมุท ชมิดท์ (1974-1982) และนายแกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์ (1998-2005)
นักการเมืองเยอรมันมักเป็นคนทำงานหนัก ไม่เล่นการเมืองน้ำเน่า แบบฝั่งสหรัฐฯหรือเอเชียบางประเทศ คนเยอรมันไม่เอาเรื่องส่วนตัว ของนักการเมืองมาโจมตีกันหรือมาพูดในที่สาธารณะ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีแมร์เคิลที่เป็นมานานถึง 16 ปี ไม่เคยมีเรื่องทุจริตคอร์รัปชันให้ได้ยิน ไม่เคยแบ่งแยกประชาชน ไม่พูดเรื่องไร้สาระ
ขณะที่ประธานาธิบดีและรองฯของสหรัฐฯคู่ใหม่ (ไบเดนกับแฮร์ริส) ชอบถ่ายและนำภาพส่วนตัวมาลงสื่อโซเชียล แต่แมร์เคิลจะปฏิเสธที่จะตอบเรื่องส่วนตัว บางครั้งโดนสื่อถามเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม โดยเฉพาะชุดที่ใส่ออกงานซ้ำๆ นายกฯแมร์เคิลก็จะตอบว่าตัวเองไม่ใช่นางแบบ
เปิดฟ้าส่องโลกรับใช้ผู้อ่านเรื่องของเยอรมนีตั้งแต่ยุคของนายโคลเป็นนายกฯ ตามด้วยยุคของนายชเรอเดอร์ และนางแมร์เคิล ใครจะเชื่อครับว่าเกือบ 25 ปีของคอลัมน์เปิดฟ้าส่องโลก เยอรมนีมีนายกฯแค่ 3 คน ผมเองเคยเรียนมัธยมปลายที่เยอรมนี 1 ปี และต้องค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อนำมาเขียนหนังสือ พบว่านายกฯแต่ละคนสร้างความประทับใจให้ผู้เขียนฯเป็นอย่างมาก
เดิมเยอรมนีถูกแบ่งเป็น 2 ประเทศ คือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) มารวมกันในยุคของนายโคล
...
ก่อนหน้าที่จะรวมประเทศ 1 ปี มี ดร.ทางควอนตัมเคมีคนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า อังเกลา แมร์เคิล เข้าสู่การเมืองด้วยการเป็นรองโฆษกรัฐบาล เยอรมนีตะวันออก (มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก) พอรวมประเทศ รองโฆษกคนนี้ก็ได้เป็นสมาชิกสภาล่างของรัฐเมคเคลนบูร์กฟอร์พอมเมิร์น
นายกฯโคลเห็นแววของ ส.ส.แมร์เคิล จึงตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสตรีและเยาวชน เมื่อ ค.ศ.1991 และเป็นรัฐมนตรีกระทรวง สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติและความปลอดภัยนิวเคลียร์ เมื่อ ค.ศ.1994
การรวม 2 ประเทศเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเพียงประเทศเดียวมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ข้อดีก็คือได้ประเทศใหม่ที่ใหญ่ขึ้น ข้อเสียก็คือเยอรมนีตะวันตกต้องแบกภาระของเยอรมนีตะวันออก และทำให้เศรษฐกิจไม่ดี คะแนนนิยมที่มีต่อนายโคลน่าจะเพิ่มขึ้น ทว่ากลับลดลง ทำให้พรรค CDU ต้องแพ้ต่อพรรค SPD และพรรคกรีนในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 27 กันยายน 1998
นอกจากแพ้การเลือกตั้งจนต้องลงจากตำแหน่งแล้ว อดีตนายกฯโคลยังเจอมรสุมหลายอย่าง ทั้งถูกสอบสวน แถมภรรยายังฆ่าตัวตายเนื่องจากปัญหาสุขภาพ พรรค CDU ที่เคยเป็นรัฐบาลมายาวนานสูญเสียความนิยมจากประชาชนอย่างมาก
CDU จึงต้องปฏิรูปพรรค สมาชิกพรรคเลือกเลขาธิการพรรคคนใหม่ที่มีชื่อนางแมร์เคิล การทำงานในตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นไปด้วยความราบรื่น อีก 2 ปีต่อมา นางแมร์เคิลก็ได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรค และนำพรรค CDU ชนะเลือกตั้งทั่วไป
ในฐานะหัวหน้าพรรค CDU นางแมร์เคิลจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีตั้งแต่ 22 พฤศจิกายน 2005
18 ปีของการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค CDU และ 16 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นางแมร์เคิลไม่ได้ทำให้สมาชิกพรรคและประชาชนคนเยอรมันผิดหวังแม้แต่น้อย วันที่เธอลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ประชาชนคนเยอรมันออกมายืนหน้าระเบียงบ้านและปรบมือให้เธอเป็นเวลายาวนานถึง 6 นาที
นายโคล หัวหน้าพรรค CDU คนที่แล้วลงไม่สวย
แต่หัวหน้าพรรคคนที่มีชื่อว่านางแมร์เคิล ลงได้อย่างสวยงามครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com