การถ่ายภาพเซลล์ที่มีชีวิตนับเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาโครงสร้างหน้าที่และพฤติกรรมของเซลล์เหล่านั้น ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ในสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาเทคนิคใหม่ที่ผสมผสานการถ่ายภาพกับปัญญาประดิษฐ์เพื่อให้เห็นภาพเซลล์ที่มีชีวิตที่ไม่ถูกทำเครื่องหมายได้เป็นเวลานาน ซึ่งมีประโยชน์ในการศึกษาการมีชีวิตของเซลล์และพยาธิวิทยา
ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานใน Quantitative Light Imaging Laboratory ของ The Beckman In-stitute for Advanced Science and Technology ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ เผยว่า การวิจัยนี้คือการสร้างมุมมองภาพที่มีความจำเพาะเชิงคำนวณ สำหรับการวัดการเปลี่ยนแปลงมวลแห้งในช่องเซลล์ย่อย ห้องปฏิบัติการดังกล่าวเชี่ยวชาญในการถ่ายภาพเซลล์ที่มีชีวิตโดยไม่ต้องใช้การติดเครื่องหมาย ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ซึ่งการใช้วิธีการคำนวณด้วยปัญญาประดิษฐ์ก็สามารถค้นหาส่วนต่างๆของเซลล์ได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังประเมินตัวอย่างเซลล์ว่ามีลักษณะอย่างไร โดยไม่ต้องฆ่าเซลล์เหมือนกับสีย้อมเรืองแสงที่มีความเป็นพิษของสารเคมี และอาจฆ่าเซลล์ได้
ข้อดีประการหนึ่งของเทคนิคนี้คือนักวิจัยจะทำการทดลองได้ในช่วงหลายวัน โดยเซลล์ยังคงมีชีวิตอยู่แม้จะผ่านไปนานกว่า 1 สัปดาห์ ดังนั้น การประเมินความมีชีวิตของเซลล์ได้เป็นเวลานานโดยไม่ต้องติดเครื่องหมายที่เซลล์ จะช่วยแยกความแตกต่างระหว่างประเภทของเซลล์ในแต่ละโรค รวมถึงช่วยศึกษากระบวนการของเซลล์ต่างๆได้.
ภาพ Credit : Beckman Institute for Advanced Sclence and Technology