แถบขั้วโลกถือเป็นแหล่งทับถมของซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลอยู่ไม่ใช่น้อย เมื่อเร็วๆนี้ มีงานวิจัยเกี่ยวกับซากฟอสซิลสิ่งมีชีวิตยุคไทรแอสสิก (Triassic) ที่อาศัยอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกาเมื่อ 250 ล้านปีก่อน มันมีลักษณะคล้ายสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีงายาว กินพืช ร่างกายดูอวบท้วมสมบูรณ์
ที่น่าสนใจก็คือ ซากฟอสซิลนี้อาจเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดของพฤติกรรมการจำศีลของสัตว์ยุคโบราณ ที่มักทำเพื่อให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากในฤดูหนาวตรงแถบขั้วโลก ฟอสซิลดังกล่าวเป็นของสัตว์ 4 ขา ชื่อลิสโทรซอรัส (Lystrosaurus) พบในจีน รัสเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ และแอนตาร์กติกา จัดเป็นสมาชิกยุคแรกๆ ของสายวิวัฒนาการที่ก่อให้เกิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ในเวลาต่อมา นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เผยว่า ลิสโทรซอรัสเข้าสู่สภาวะจำศีลหรือกบดานอยู่กับที่เพื่อทำให้การเผาผลาญในร่างกายลดลงชั่วคราว สำหรับรับมือกับฤดูหนาวที่ยาวนานและมืดมิด ในแถบแอนตาร์กติก เซอร์เคิล หรือวงกลมแอนตาร์กติก
ผลการวิจัยยังชี้ว่าลิสโทรซอรัสอาจมีเส้นขน เป็นสัตว์เลือดอุ่น ขนาดเทียบเท่าหมูไปจนถึงวัว จะงอยปากเหมือนเต่า ไม่มีฟัน ยกเว้นงาที่งอกบนใบหน้าใช้ขุดหาอาหาร ซึ่งงาจะแสดงเครื่องหมายการเติบโตที่เพิ่มขึ้น แบบเดียวกับเนื้อฟัน หรือวงแหวนต้นไม้ อย่างไรก็ตาม การที่สัตว์เข้าสู่ภาวะจำศีลอาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมลิสโทรซอรัสที่อยู่มาก่อนไดโนเสาร์นานกว่าหลายล้านปี ถึงรอดพ้นจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกเมื่อ 252 ล้านปีก่อน เมื่อยุคเพอร์เมียน (Permian) สิ้นสุดลง และยุคไทรแอสสิกเริ่มต้นขึ้น.
...