สหรัฐอเมริกายั้งไม่อยู่ ขึ้นแท่น แชมป์ผู้ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 สูงสุดในโลกกว่า 5.3 แสนราย ยอดตายก็แซงอิตาลีมาอยู่อันดับ 1 ด้วยยอดเสียชีวิตทะลุ 2 หมื่นศพ ด้านนครนิวยอร์กจ่อปิดสถานศึกษายาวถึงปลายปี ขณะที่จีนชักหนาวเมื่อพบผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับมาพุ่งอีก แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ ด้านอียูเริ่มให้ความหวังชาวโลก คาดแล็บในยุโรปจะทำวัคซีนได้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรง (โควิด-19) ในกว่า 200 ประเทศ และดินแดนทั่วโลก สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ว่า ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่กว่า 1.78 ล้านราย ตัวเลขยังทะยานขึ้น ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด ขณะที่ผู้ติดเชื้อเสียชีวิต ก็พุ่งไปกว่า 108,000 ศพ ส่วนคนป่วยที่รักษาหายมีอยู่ราว 404,000 ราย สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศที่มีผู้ป่วย โควิด-19 สูงที่สุดในโลกไปด้วยยอดผู้ป่วยสะสมกว่า 533,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตแซงประเทศอิตาลีมายืน อยู่อันดับ 1 ของโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 12 เม.ย. มีรายงานผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ วันเดียวเกือบ 2,000 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 20,580 ราย ขณะที่ อิตาลีมีผู้เสียชีวิต 19,468 ราย ติดเชื้อ 152,271 ราย
นอกจากนี้ มีรายงานว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศให้การระบาดของ โรคโควิด-19 เป็นภัยพิบัติในรัฐไวโอมิง ทำให้นับเป็น ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติที่มีการประกาศภัยพิบัติครบ 50 รัฐ ขณะเดียวกันนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก นายบิล เดอ บลาซิโอ เปิดเผยว่า โรงเรียนของรัฐในนครนิวยอร์กอาจยังต้องปิดการเรียนการสอนไปอีกยาว คาดว่าจะเปิดได้ตามปกติในเดือน ก.ย.นี้
...

ส่วนในยุโรป ที่ภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสมรณะยังไม่ดีขึ้นนัก กระทรวงสาธารณสุข ฝรั่งเศส เผยตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 635 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 13,832 ราย แยกเป็นที่เสียชีวิต ในโรงพยาบาล 8,943 ราย และที่บ้านพักคนชราอีก 4,889 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อสะสมเกือบ 130,000 ราย
ขณะที่อาการของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่เข้ารักษาโรคโควิด-19 ในห้องไอซียู โรงพยาบาลเซนต์ โทมัส ในกรุงลอนดอน อยู่นาน 2 วัน ล่าสุด อาการดีขึ้น สามารถลุกขึ้นเดินได้บ้างแล้ว และได้กล่าวขอบคุณเหล่าแพทย์พยาบาลที่ช่วยชีวิตเขาจนมีอาการดีขึ้น ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในประเทศ วันเดียวยังเกือบ 1 พันราย รวมถึงเด็ก 11 ขวบ ทำให้ยอดเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 9,875 ราย ติดเชื้อเพิ่มอีก 5,234 ราย ยอดสะสม 78,991 ราย
ที่บัลแกเรีย นายกรัฐมนตรีบอยกอ บอรีซอฟ ได้ออกมาขอให้ประชาชนทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัย ในที่สาธารณะนับแต่วันที่ 12 เม.ย.จนถึงวันที่ 26 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เตรียมฉลองเทศกาลอีสเตอร์ของชาวคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ ที่จะจัดขึ้นในอีก หนึ่งสัปดาห์ หลังการฉลองของชาวคริสต์นิกายคาทอลิก กับนิกายโปรเตสแตนต์ในหลายประเทศ บัลแกเรียเป็นหนึ่งในกลุ่มยุโรปประเทศแรกๆ ที่ประกาศล็อกดาวน์ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 8 ราย รวมสะสม 669 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 28 ราย
นางเออร์ซูลา วอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) เผยว่า ผู้สูงอายุในยุโรป จะยังคงถูกจำกัดพื้นที่ไม่ให้ออกไปไหนอีกนาน หรือเก็บตัวอยู่บ้านให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยในบ้านพักคนชรา จนกว่าจะมีการผลิตวัคซีน คาดว่า ห้องปฏิบัติการในยุโรปจะประสบความสำเร็จภายในสิ้นปีนี้
ที่ซาอุดีอาระเบีย สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอาซิส กษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาอุฯ มีพระบรมราชานุญาตให้ขยายการประกาศเคอร์ฟิวต่อไปจนกว่าทางสำนักพระราชวังจะแถลงการณ์ให้ทราบต่อไป ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศยังสูง คือ มีผู้ติดเชื้อแล้ว 4,033 ราย รวมสมาชิกราชวงศ์ซาอุฯ 150 พระองค์ เสียชีวิตอีก 52 ราย หลังรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ตั้งแต่เวลา 19.00 น. ถึงเวลา 06.00 น. เป็นเวลา 21 วัน
ที่จีน แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น และอีกหลายเมืองในมณฑลหูเป่ย จะเริ่มดีขึ้น แต่เมื่อวันที่ 12 เม.ย. คณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน (เอ็นเอชซี) แถลงว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับมาเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิม หรือ 99 ราย ถือว่ามากสุดตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ กว่าครึ่งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มมาเป็น 82,052 ราย เสียชีวิต 3,343 ราย
นอกจากนี้ หลายประเทศในทวีปแอฟริกาได้ออกมาเรียกร้องถึงทางการจีนว่า พลเมืองจากแอฟริกาในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ถูกเลือกปฏิบัติและถูกคุกคามทำร้าย เพราะกลัวจะแพร่เชื้อโรคโควิด-19 หลังมีรายงานว่าชาวแอฟริกาบางรายถูกเจ้าของอพาร์ตเมนต์ขับไล่หรือไม่ต้อนรับให้เข้าพักอาศัย รวมถึงถูกตรวจหาเชื้อไวรัสหลายครั้งโดยไม่แจ้งผลและถูกเลือกปฏิบัติเวลาอยู่ในที่สาธารณะ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานผ่านสถานกงสุลสหรัฐฯ ในเมืองกวางโจวว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสั่งให้ร้านอาหารและผับบาร์ต่างๆ ไม่ให้บริการลูกค้าที่เป็นชาวแอฟริกา ใครที่สัมผัสกับคนที่มาจากกาฬทวีปจะถูกตรวจหาเชื้อ ไม่ว่าจะเพิ่งมีประวัติเดินทางหรือกักตัวก่อนหน้า แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเมืองกวางโจว จะออกมาโต้ว่าทางการปฏิบัติกับทุกคนเท่าเทียมกัน
...
สำหรับประเทศในอาเซียน พบว่าอินโดนีเซีย สถานการณ์น่าห่วงสุด กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย ออกมาตรการฉบับใหม่เกี่ยวกับการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงใกล้ถึงเทศกาลถือศีลอด “รอมฎอน” ปีนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. ไปสิ้นสุดวันที่ 23 พ.ค. กำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถเมล์ รถทัวร์ รถไฟ เครื่องบิน และเรือ ต้องทำตามมาตรการ social distancing จัดสรรที่นั่งลดเหลือครึ่งหนึ่ง รวมถึงจำกัดผู้โดยสารที่นั่งในรถยนต์ส่วนบุคคลลงครึ่งหนึ่งด้วย ส่วนรถมอเตอร์ไซค์ให้มีเฉพาะผู้ขับขี่ พร้อมสั่งให้ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารทุกคน ตามสถานี สนามบิน ท่าเรือ รวมถึงต้องเตรียมสบู่ เจลฆ่าเชื้อ ไว้ให้ผู้โดยสารใช้ล้างมือ ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะ หลังจากปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ 3,842 ราย เสียชีวิต 327 ศพ

วันเดียวกัน ธนาคารโลก หรือเวิลด์ แบงก์ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในเอเชียใต้ ที่ประกอบด้วย 8 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และมัลดีฟส์ อาจเติบโตแย่ที่สุดในรอบ 40 ปี จากผลพวงพิษเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด คาดว่าปีนี้จะเติบโตแค่ 1.8-2.8 เปอร์เซ็นต์ ลดจาก 6.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อ 6 เดือนก่อน แต่ละประเทศหามาตรการแก้ไขที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปาทาน หรือเครือข่ายโลจิสติกส์ทั่วเอเชียใต้ที่จนถึงขณะนี้อินเดียมีผู้ติดเชื้อ 8,504 ราย เสียชีวิต 289 ศพ ปากีสถาน ติดเชื้อ 5,038 ราย เสียชีวิต 86 ศพ อัฟกานิสถาน ติดเชื้อ 555 ราย เสียชีวิต 18 ศพ บังกลาเทศ ติดเชื้อ 482 ราย เสียชีวิต 30 ศพ ศรีลังกา ติดเชื้อ 199 ราย เสียชีวิต 7 ศพ เนปาล ติดเชื้อ 19 ราย มัลดีฟส์ ติดเชื้อ 12 ราย และภูฏาน ติดเชื้อ 5 ราย แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต
...
ต่อมาในช่วงค่ำ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างการเปิดเผยของรัฐบาลอังกฤษว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ หายป่วยจากไวรัสโควิด-19 จนสามารถออกจากโรงพยาบาลเซนต์โธมัส ในกรุงลอนดอนได้แล้ว แต่จะใช้เวลาพักรักษาตัวต่อ ยังไม่กลับไปทำงานทันที นอกจากนี้ เอเอฟพียังรายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตในยุโรปเมื่อช่วงค่ำวันที่ 12 เม.ย.พุ่งทะลุเกิน 75,000 คน อิตาลีมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 19,468 คน ตามด้วยสเปน 16,972 คน ฝรั่งเศส 13,832 คน และอังกฤษ 9,875 คน
ขณะที่เซอร์ เจเรมี ฟาร์ราร์ ผู้อำนวยการกลุ่มที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ ประกาศเตือนว่า อังกฤษอาจกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสมากที่สุดของยุโรป พร้อมเชื่อว่าถึงจะมีการคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสสำเร็จในช่วงเดือน ก.ย.แต่อาจมีปริมาณไม่เพียงพอสำหรับทุกคน ส่วนกระทรวงสาธารณสุขศรีลังกา ประกาศมาตรการให้เผาศพผู้ที่เสียชีวิตหรือเชื่อว่าเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เท่านั้น ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มการเมืองมุสลิม เช่นเดียวกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล ที่ระบุว่าไม่ควรสร้างความแตกแยกในช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้