เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ทำให้มีผู้ติดเชื้อใน 210 ประเทศ และดินแดนทั่วโลกแล้วกว่า 1.62 ล้านคน เสียชีวิตแล้วเกือบ 1 แสนคน และยังไม่รู้ว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ อย่างไร แต่เมื่อมีจุดเริ่มต้นก็ย่อมมีจุดสิ้นสุด มนุษยชาติต้องพิชิตเจ้าโควิด-19 จนได้ในสักวันหนึ่ง
แต่หลังอภิมหาวิกฤตการณ์ครั้งนี้ผ่านพ้น โลกใบนี้จะเปลี่ยนรูปโฉมไปอย่างใหญ่หลวง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งระดับการเปลี่ยนแปลงนี้ยังยากจะชี้ชัด ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะพิชิตเจ้าโควิด-19 ได้เร็วหรือช้าปานใดด้วย
ในเชิงเศรษฐกิจ มาตรการ “ล็อกดาวน์” หรือ “ชัตดาวน์” ห้ามผู้คนออกนอกบ้าน ปิดเมืองปิดประเทศ ปิดธุรกิจใหญ่น้อยแทบทุกภาคส่วน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจหลายประเทศที่อ่อนแออาจถึงขั้นล่มสลาย ตลาดการเงินพังทลาย ไม่สามารถฟื้นตัวสู่ระดับปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ได้ เป็นเวลานานหลายปีหรือหลายสิบปี
ประเทศร่ำรวยอาจมีปัญญาทุ่มเงินมหาศาลอุ้มเศรษฐกิจให้อยู่รอดและฟื้นตัวจากวิกฤติได้เร็วกว่าประเทศยากจนเช่นในแอฟริกา ซึ่งปกติก็ย่ำแย่แทบเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอพิษโควิด-19 ชะตากรรมยิ่งมืดมน
วิกฤติโควิด-19 ยังเปิดเปลือยให้เห็นธาตุแท้ของผู้นำรัฐบาลหลายประเทศ นั่นคือ “ความเห็นแก่ตัว” และ “ชาตินิยม” เช่น การแย่งชิงยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอดของตน รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลังวิกฤติโควิด-19 จะทำให้ชาวโลกฉุกคิดได้ว่าพึ่งประเทศอื่นไม่ได้ “ตนเท่านั้นเป็นที่พึ่งแห่งตน”
...

ดังนั้น ระบบ “ทุนนิยม” (Capitalism) ระบบ “การค้าเสรี” (Free Trade) ระบบ “โลกาภิวัตน์” (Globalization) ระบบ “พหุภาคี” (Multilateralism) ซึ่งเคยถูกเชิดชูเป็นเสาหลักของโลก จะถูกมองอย่างเคลือบแคลงหวาดระแวง จนอาจนำไปสู่การกลับสู่ระบบ “การกีดกันทางการค้า” (Protectionism) ระบบ “อโลกาภิวัตน์” (Deglobalization) และระบบ “เอกนิยม” (Unilateralism) มากขึ้นก็เป็นได้
ในเชิงการเมือง มาตรการล็อกดาวน์ จำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชน ยังทำให้รัฐบาลบางประเทศ เช่น “ฮังการี” ฉวยโอกาสรวบอำนาจมากขึ้นเยี่ยงเผด็จการ แม้แต่ประเทศประชาธิปไตยจ๋า รวมทั้งสหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย ฯลฯ มาตรการล็อกดาวน์ยังจำกัดเสรีภาพของประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ประชาชนที่ไม่คุ้นชินคับข้องใจอยู่กันอย่างทุกข์ยากลำบาก แม้รู้ดีว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อต่อสู้โควิด-19
นอกจากนี้ ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจน รัฐบาลหลายๆประเทศเริ่มรู้สึกร้อนๆหนาวๆว่าจะรับมือผลกระทบทางการเมืองหลังวิกฤติโควิด-19 อย่างไร เพราะถ้าไม่สามารถอุ้มเศรษฐกิจฟันฝ่าวิกฤติไปได้ จะเกิดความทุกข์ยากเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า บ้านเมืองลุกเป็นไฟ ประชาชนจะลุกฮือประท้วงขับไล่รัฐบาล
แม้แต่ประเทศที่ผู้นำกุมอำนาจกึ่งเผด็จการอย่างเข้มแข็งมายาวนาน เช่น “รัสเซีย” และ “ตุรกี” ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และประธานาธิบดีเรเซป ทายยิป แอร์โดกัน ก็คงเสียวสันหลังเช่นกันว่าจะนำพาประเทศชาติฝ่าฟันวิกฤติโควิด-19 ไปได้หรือไม่ ขนาดไหน ถ้า “เอาไม่อยู่” ก็อาจมีชะตากรรมที่ย่ำแย่
วิกฤติโควิด-19 ยังเผยให้เห็นถึงความอ่อนแอของกลุ่มประเทศที่รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวมายาวนานอย่าง “สหภาพยุโรป” (อียู) ซึ่งพยายามรักษาเอกภาพไว้หลัง “เบร็กซิต” สหราชอาณาจักรถอนตัวจากอียู แต่อียูกลับแตกแยกกันชัดเจนในมาตรการรับมือโควิด-19 เพราะเป็นไปแบบตัวใครตัวมัน ข้อเสนอออกพันธบัตรร่วม “ยูโรบอนด์” เพื่อระดมทุนมหาศาลสู้โควิด-19 ก็ถูกปฏิเสธ เพราะชาติยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมนีไม่เอาด้วย

...
ขณะที่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ “จี 7” และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้ากับเศรษฐกิจเกิดใหม่ “จี 20” ก็ไม่สามารถแสดงความเป็นผู้นำและเอกภาพช่วยประเทศที่ยากจนกว่าต่อสู้กับโควิด-19 ได้ แม้แต่องค์กรที่ถูกยกให้เป็นเสาหลักของโลกอย่าง “สหประชาชาติ” (ยูเอ็น) และ “องค์การอนามัยโลก” (WHO) หน่วยงานหนึ่งของยูเอ็นก็ถูกโจมตีว่า “พึ่งไม่ได้” ด้อยประสิทธิภาพ แจ้งเตือนภัยล่าช้า ให้คำแนะนำต่อสู้โควิด-19 ไม่เข้าท่า รวมทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งกลับไปกลับมา
หลังวิกฤติโควิด-19 กลุ่มประเทศและองค์กรยักษ์ใหญ่เหล่านี้อาจอ่อนแอลงมาก เพราะแต่ละชาติรัฐจะหันไปพึ่งตนเองแทน และฝ่ายชาตินิยมหรือสังคมนิยมในประเทศต่างๆ จะได้ขึ้นมากุมอำนาจมากขึ้น
ส่วน “จีน” ต้นตอการแพร่ระบาด แต่เอาชนะวิกฤติโควิด-19 ได้ก่อนใคร รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จึงได้เครดิตอย่างสูงและกุมอำนาจได้แข็งแกร่งขึ้น ตรงข้ามกับรัฐบาลสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ ซึ่งรับมือโควิด-19 อย่างประมาทล่าช้าจนควบคุมไม่ได้ มีคนติดเชื้อล้มตายเป็นเบือ จะอ่อนแอลง และอาจถูกประชาชนโกรธแค้นไล่ตะเพิด
ในเชิงสังคม วิกฤติโควิด-19 ยังจะส่งผลให้ “จิตวิญญาณ” และ “ทัศนคติ” ของชาวโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เพราะผู้คนได้ไตร่ตรองถึงคุณค่าของชีวิต ความรัก ความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีสติ รู้จักปลงตกมากขึ้น เนื่องจากได้รู้สำนึกว่าชีวิตนี้ช่างเปราะบางเหลือเกิน อะไรก็ไม่แน่นอน ทุกคนมีสิทธิ์ตายได้ทุกเมื่อไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ไม่ว่าเป็นยาจกหรือผู้นำประเทศ
และที่สำคัญ ได้รู้ว่า “ธรรมชาติ” ช่างทรงมหิทธานุภาพ มนุษยชาติไม่มีทางเอาชนะได้!
...
บวร โทศรีแก้ว