หน่วยงานใหญ่ของสหประชาชาติ 3 องค์กร ได้แก่ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ ร่วมเตือนถึงสถานการณ์ขาดแคลนอาหารทั่วโลกอาจเกิดขึ้นท่ามกลางภัยระบาดของโคโรนาไวรัส โควิด-19 ถ้าไม่มีการบริหารจัดการระบบอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ
แถลงการณ์ร่วมของนายอู๋ ตงหยู ผู้อำนวยการเอฟเอโอ นายเทโดรส อัดฮานอม เกรเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก และนายโรเบอร์โต อาเซวาโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ระบุเนื้อหาท่ามกลางสภาวการณ์ของนานาประเทศต่างใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” หรือปิดประเทศ เพื่อชะลอการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลถึงกระบวนการผลิตและส่งออกอาหารจากทั่วโลก เพราะหลายประเทศต่างจำกัดการส่งออกอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนในประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศต่างก็กำลังเผชิญปัญหาจากมาตรการกักกันผู้คนและหยุดการเคลื่อนไหวในหลายๆด้าน
ตัวอย่างรูปแบบที่เกิดขึ้นคล้ายกับสถานการณ์ช่วงวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2540 รัฐบาลอินเดียกับเวียดนามในฐานะชาติผู้ผลิตส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกต่างจำกัดการส่งออกข้าว ทำให้ราคาข้าวตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นมาก นอกจากนั้น หน่วยงานสหประชาชาติทั้ง 3 แห่ง ยังเตือนถึงรัฐบาลรัสเซียเริ่มพิจารณาจำกัดการส่งออกข้าวสาลี เพื่อรักษาปริมาณสำรองเอาไว้ในประเทศ
แถลงการณ์ฉบับเดียวกันนี้ ระบุอีกว่าท่ามกลางมาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวของผู้คนให้อยู่แต่ในบ้าน ทำให้เสี่ยงต่อผลกระทบด้านแรงงานเกษตรและแรงงานอุตสาหกรรม ผนวกมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดน ยิ่งส่งผลต่อการขนส่งสินค้าอาหารข้ามประเทศให้ต้องชะงักหรือล่าช้า ผลกระทบที่เกิดขึ้น อาทิ การเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรจากเม็กซิโกเข้าสหรัฐฯ ภาวะการขาดแคลนแรงงานจากภูมิภาคแอฟริกาเข้าภาคพื้นยุโรปทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทางแก้ปัญหาคือรัฐบาลนานาประเทศต้องพยายามให้ระบบการขนส่งสินค้าและอาหารได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์แย่งซื้ออาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ.
...