หากเป็นดีไซเนอร์ทั่วๆ ไปก็จะมีความครีเอตในทางสรรหาผืนผ้าลายใหม่ให้เข้ากับคอนเซปต์แต่ละช่วงฤดูกาล แต่สำหรับ “ดาเนียล ซิลเวอร์สตีน” ดีไซเนอร์อายุ 31 ปี ที่อยู่ในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ อาจไม่ได้เดินแนวนี้
เพราะบริษัทแฟชั่น “ซีโร่ เวสต์ ดาเนียล” หรือขยะเป็นศูนย์ของดาเนียลที่เขาเริ่มเปิดกิจการเมื่อ 5 ปีก่อน กับ “มาริโอ เดอมาร์โก” พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจและเป็นสามีของเขา นั้น คัดสรรการตัดเย็บจากเศษเล็กเศษน้อยของเสื้อผ้าที่โละทิ้งแล้ว นำมาประยุกต์ใช้ใหม่ หมุนเวียนกลับมาใหม่
ขายทั้งหน้าร้านและทางออนไลน์ รวมถึงจัดแสดงโชว์ในงานแฟชั่นวีกประจำครึ่งปีที่นครนิวยอร์ก
และเขาก็ไม่สนใจด้วยว่า จะมีใครก๊อปไอเดียของเขา เพราะเขารู้สึกว่า
“ยิ่งมีคนทำ ก็ยิ่งช่วยแก้ปัญหา”
ซิลเวอร์สตีน เป็นหนึ่งในดีไซเนอร์หลายๆคนที่คิดและลงมือทำ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านวงการแฟชั่น อย่างเช่น เอลลีน ฟิเชอร์ ดีไซเนอร์ผู้หญิง ก็มีโครงการรับซื้อคืนแล้วใช้ชิ้นส่วนวัสดุเสื้อผ้ามาออกแบบแล้วขายใหม่ หรืออย่าง Reformation ร้านขายเสื้อผ้าทางออนไลน์ ก็มีรายการสินค้าเสื้อผ้ารีไซเคิลบนเว็บไซต์
จากการประเมินของ สำนักงานด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ เมื่อปี 2560 มีการผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มในประเทศราว 17 ล้านตัน ในจำนวนนี้ถูกนำไปทิ้งกว่า 11 ล้านตัน มีเพียง 2.6 ล้านตันที่ถูกนำกลับไปใช้ใหม่
และจากสถาบันมาตรฐานใหม่ ยังเผยอีกว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกกว่า 8% นั้นเป็นผลผลิตที่เกิดจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมรองเท้า
...
ขณะที่ซิลเวอร์สตีนมีมุมมองกับเรื่องเสื้อผ้ารีไซเคิลว่า “มันไม่ใช่แค่เรื่องหาเงิน แต่มันยังเป็นเรื่องของผลกระทบด้วย ผมไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ไปทับถมซ้ำเติมให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้แย่ลงไปอีก”
และแฟชั่นอย่างยั่งยืนนี้มีความหมายได้ว่า สิ่งทอที่ยืดอายุวัสดุให้กลายเป็นขยะช้าลง (upcycling) ซึ่งลดการใช้น้ำ การฟอกย้อมและยาฆ่าแมลง ให้กลายเป็นแฟชั่นแบบใหม่ เหมือนอย่างที่ซิลเวอร์สตีนทำ นับเป็นการจุดประกายไฟเล็กๆ ที่ควรเป็นพลุลูกใหญ่ของวงการ...
ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ