(ภาพ)เชียร์แม่ซู–ชาวเมียนมาชูโปสเตอร์รูปนางอองซาน ซูจี ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “คุณแม่ซู” ระหว่างการชุมนุมสนับสนุนนางซูจีในนครย่างกุ้ง ก่อนซูจีไปขึ้นศาลโลกในกรุงเฮก เพื่อสู้คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา(เอเอฟพี)

ช่วง 10-12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ชาวโลกพุ่งความสนใจไปที่นางอองซาน ซูจี รมว.ต่างประเทศ ที่ปรึกษาแห่งรัฐ “ผู้นำโดยพฤตินัย” ของเมียนมา ที่นำคณะไปสู้คดี “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวมุสลิมโรฮีนจา ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ด้วยตัวเอง

คดีนี้มี “แกมเบีย” ประเทศอิสลามเล็กๆในแอฟริกาตะวันตกเป็นผู้ยื่นฟ้องในฐานะตัวแทนองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) 57 ประเทศ และมีชาติตะวันตกบางชาติ รวมทั้งแคนาดาและเนเธอร์แลนด์สนับสนุน โดยคำฟ้องระบุว่าเมียนมาละเมิดอนุสัญญา ค.ศ.1948 ว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กรณีกองทัพเมียนมาบุกกวาดล้างรัฐยะไข่ในปี 2560 ทำให้ชาวโรฮีนจาเสียชีวิตหลายพันคน หนีไปลี้ภัยในบังกลาเทศอีกกว่า 740,000 คน

สำนวนฟ้องชี้ว่ากองทัพเมียนมามีเจตนากำจัดชาวโรฮีนจาบางส่วนหรือทั้งหมดด้วยการสังหารหมู่ ข่มขืนสตรีและเด็ก จุดไฟเผาหมู่บ้านชาวโรฮีนจาอย่างเป็นระบบ หลังคณะผู้ค้นหาความจริงของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่รายงานในปีนี้ว่า มีการก่ออาชญากรรมร้ายแรงในเมียนมาและเรียกร้องให้มีการพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยกล่าวหาซูจี “สมรู้ร่วมคิด” ด้วย แกมเบียยังขอให้ไอซีเจสั่งใช้มาตรการชั่วคราวปกป้องคุ้มครองชาวโรฮีนจา

แต่ซูจีโต้ว่าคำฟ้องของแกมเบียไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้อง กองทัพเมียนมาไม่มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่อาจมีบ้างที่ใช้กำลังไม่เหมาะสมเพราะแยกไม่ได้ว่าใครคือพลเรือนหรือกลุ่มโรฮีนจาหัวรุนแรงที่บุกโจมตีฐานที่มั่นของตำรวจในปี 2560 ซึ่งเมียนมาจะสอบสวนเอง ทหารที่ทำผิดข้อหาอาชญากร สงครามจะถูกดำเนินคดีลงโทษ

...

การไปขึ้นศาลไอซีเจในฐานะทนายของประเทศ นับเป็นเค้าเดิมพันที่สูงมากของนางซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2534 หัวหอกต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้เคยได้รับฉายา “เดอะ เลดี้” และเคยถูกเชิดชูเป็น “วีรสตรีประชาธิปไตย” ผู้ยิ่งใหญ่ เทียบเท่ามหาตมะ คานธี แห่งอินเดีย และเนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้

รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาตลอด ยืนยันว่าปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่ชอบธรรมและเหมาะสมเพื่อกวาดล้างผู้ก่อการร้ายโรฮีนจาที่โจมตีฝ่ายรัฐก่อน ส่วนซูจีก็นิ่งเงียบและมีท่าทีปกป้องกองทัพ ทำให้ถูกประชาคมโลกรุมโจมตีและถูกริบรางวัลเกียรติยศจากหลายสถาบัน แต่ไม่รวมรางวัลโนเบล

สู้ยิบตา–นางอองซาน ซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมา แถลงโต้ข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ว่าไม่เป็นความจริง โดยมีนายอาบูบาคาร์ แทมบาดู รมว.ยุติธรรมของแกมเบีย (ซ้ายสุด) ประเทศที่ยื่นฟ้อง นั่งฟังอย่างเคร่งเครียด (เอเอฟพี)
สู้ยิบตา–นางอองซาน ซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของเมียนมา แถลงโต้ข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ว่าไม่เป็นความจริง โดยมีนายอาบูบาคาร์ แทมบาดู รมว.ยุติธรรมของแกมเบีย (ซ้ายสุด) ประเทศที่ยื่นฟ้อง นั่งฟังอย่างเคร่งเครียด (เอเอฟพี)

ชาวโลกไม่น้อยสงสัยว่าเหตุใดนางซูจีผู้เคยถูกรัฐบาลทหารกักบริเวณในบ้านพักถึง 15 ปี จึงละทิ้งจิตวิญญาณและอุดมการณ์นักต่อสู้เพื่อความถูกต้องยุติธรรม หันมาปกป้องกองทัพเช่นนี้?

นักวิเคราะห์เองก็มีความเห็นต่างกัน บ้างก็ชี้ว่าซูจีเล่นตามกระแสมหาชน เพราะชาวเมียนมาส่วนใหญ่ท่วมท้นเกลียดชังชาวโรฮีนจา เห็นว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ จึงไม่ยอมเรียกว่าโรฮีนจา แต่เรียกพวก “เบงกาลี” แทน แม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ส่วนใหญ่ก็เกลียดชาวโรฮีนจา มีเพียงกบฏติดอาวุธ 3 กลุ่ม คือ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (เอ็มเอ็นดีเอเอ หรือโกกั้ง), กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติดาระอั้ง (ทีเอ็นแอลเอ) และกองทัพอาระกัน (เอเอ) ที่แสดงความเห็นด้วยที่เมียนมาถูกฟ้องในไอซีเจ แต่ทั้ง 3 กลุ่มก็เกลียดชาวโรฮีนจาเช่นกัน

ส่วนนักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าซูจีออกโรงปกป้องกองทัพ เพราะหวังให้กองทัพตอบแทนแบบ “หมูไปไก่มา” ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับทหารที่ยังให้อำนาจกองทัพสูงมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

แต่นักวิเคราะห์อีกกลุ่ม รวมทั้งพรรคการเมืองส่วนใหญ่ของเมียนมาชี้ว่า การไปขึ้นศาลไอซีเจของซูจีเป็นเรื่อง “การเมือง” ล้วนๆ เพราะปีหน้าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจีหวังโกยคะแนนเสียงท่วมท้นโดยไร้คู่แข่ง ถึงแม้คาดว่าจะชนะขาดลอยอยู่แล้ว

แต่ก็มีนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นว่าซูจีเองอาจทนไม่ไหวที่เมียนมาถูกรุมกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยไม่เป็นความจริง แม้กองทัพพลั้งมือกวาดล้างชาวโรฮีนจาแรงเกินไป แต่ทำเพื่อความมั่นคงของชาติ และปัญหาโรฮีนจากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆนั้นก็สลับซับซ้อนหลายมิติจนโลกภายนอกยากจะเข้าใจ

ดังนั้น ซูจีจึงอาจต้องการใช้ศาลไอซีเจเป็นเวทีชี้แจงให้ชาวโลกเข้าใจเมียนมามากขึ้น และอาจเล็งเห็นว่าคดีนี้ต้องสู้กันยาว อาจเป็นปีหรือหลายปี และเมียนมามีสิทธิ “รอด” สูง

...

เพราะการที่ศาลโลกจะตัดสินว่าคดีใดเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นมีบรรทัดฐานสูงมาก ต้องมีหลักฐานแน่นหนาชัดเจนจริงๆ เท่านั้น มิฉะนั้นศาลจะ “ยกประโยชน์ให้จำเลย” โดยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไอซีเจตัดสินว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แค่ 3 คดี คือ คดีเขมรแดงในกัมพูชา คดีรวันดา และคดีเซรเบรนิกาในบอสเนีย

และแม้ไอซีเจตัดสินว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเมียนมาจริง แต่ก็ไม่มีอำนาจสั่งจับกุมซูจีหรือพวกผู้บัญชาการกองทัพเมียนมาโดยทันที แต่ก็อาจส่งผลให้เมียนมาถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจการค้าจากประชาคมโลก

ซูจีจึงอาจเห็นว่าตอนนี้เอา “เรื่องภายใน” ไว้ก่อน อย่างน้อยก็มีประชาชนโอบอุ้มท่วมท้น!

บวร โทศรีแก้ว