ไทยรัฐ ได้รับเกียรติให้สัมภาษณ์พิเศษ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ในวาระที่เดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งท่ี 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ท่ีกรุงเทพฯ ระหว่างวันท่ี 2-4 พ.ย.62

• ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอินเดียและไทยดำเนินมากว่า 7 ทศวรรษ ท่านคิดว่าความสัมพันธ์ในทศวรรษข้างหน้าจะเป็นเช่นไร และคาดหวังให้เป็นไปในทิศทางใด

ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านทางทะเล อินเดียและไทยมีความสัมพันธ์กันในหลายมิติ ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอินเดียและไทยได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อ 70 ปีที่แล้ว แต่เรามีความสัมพันธ์อย่างยาวนานบนพื้นฐานความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ภาษาศาสตร์ ศาสนา และมีความแน่นแฟ้นในด้านการเมือง การทหารและความมั่นคง การค้าและการลงทุน วัฒนธรรม การศึกษาและการท่องเที่ยว รู้สึกยินดีที่การค้าและการลงทุนระหว่างอินเดียและไทยเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง การค้าทวิภาคีปี 2561 คิดเป็นมูลค่าราว 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ เรายังมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าการค้าทวิภาคีให้สูงขึ้นอีกเท่าตัวประเทศไทยถือเป็นมิตรที่มีค่ายิ่งต่ออินเดีย เราต้องการที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในด้านต่างๆ และสานต่อการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับมิตรชาวไทย ทั้งในระดับภูมิภาคและพหุภาคี อาทิ อาเซียน และผ่านกลไกต่างๆ รวมถึงการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ARF) การประชุม รมว.กลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ADMM Plus) ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา (MGC) สมาคมแห่งภูมิภาคมหา– สมุทรอินเดีย (IORA) กรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา -แม่โขง (ACMECS)

...

การก่อสร้างทางหลวงไตรภาคีอินเดีย-เมียนมา-ไทย จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมบูรณาการทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เฉพาะระหว่างอินเดียและไทย แต่รวมถึงระหว่างอินเดียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด เราหวังที่จะได้เห็นความเชื่อมโยงทางท่าเรือที่มากขึ้น และความร่วมมือทางทะเลในรูปแบบอื่นๆ ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอินเดียต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

• ดำเนินนโยบายต่ออาเซียนอย่างไร โดยเฉพาะไทยและประเทศ CLMV (เขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ท่ามกลางกระแสอิทธิพลของจีนที่แผ่ขยายในภูมิภาค

สำหรับอินเดีย อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียง “ประตู” หลักที่ใช้เป็นทางเข้าออกภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย แต่ยังเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจและการเมืองมากที่สุดของโลกปัจจุบัน อินเดียต้องการเห็นอาเซียนเข้มแข็ง เป็นปึกแผ่นและมั่งคั่ง ดำเนินบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความเจริญและความมั่นคงของอินเดียด้วยเช่นกัน ความร่วมมือกับอาเซียนถือเป็นและจะยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของนโยบายและยุทธศาสตร์ “ปฏิบัติการตะวันออก” ซึ่งในปัจจุบันเป็นองค์ประกอบหลักของวิสัยทัศน์ของอินเดียต่ออินโด-แปซิฟิก

นอกจากความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน อินเดียยังมีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับประเทศในอนุภูมิภาค ทั้งแบบทวิภาคีและภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา (MGC) และอินเดียเข้าร่วมยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ในฐานะประเทศหุ้นส่วนการพัฒนา ภายใต้โครงการการจัดสรรเงินกู้ 1,000 ล้านดอลลาร์ ให้ภูมิภาคอาเซียนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมพิจารณาโครงการเชื่อมโยงภายใต้แผนแม่บทเพื่อการเชื่อมโยงของอาเซียน (MPAC 2025) และโครงการเร่งด่วน ต่างๆของ ACMECS

• ดูเหมือนว่าสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน จะกลับมาแข่งขันกันด้านอาวุธ มีความคิดเห็นเช่นไร และอินเดียจะดำเนินการอย่างไรเพื่อช่วยสนับสนุนสันติภาพโลก

เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ระหว่างประเทศมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในด้านหนึ่งประเทศต่างๆในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงและพึ่งพากันมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ในอีกด้านโลกต้องเผชิญกับสิ่งท้าทายต่อระบบพหุภาคีนิยม (Multilateralism) ที่ส่งผลเสียต่อฉันทามติที่เกี่ยวกับความดีงามและความสงบสุขโลก

...

ผมเคยกล่าว ณ สมัชชาใหญ่สหประชาชาติว่า อินเดียเป็นดินแดนที่ทำให้พุทธ (Buddh) ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก ไม่ใช่ยุทธ (Yudh-สงคราม) สันติสุขและการละใช้ความรุนแรงเป็นหลักคำสอนชี้แนะแนวทางแห่งอารยธรรมของเราตั้งแต่สมัยโบราณ การเรียกร้องเอกราชอินเดียนำโดยท่านมหาตมะ คานธี ที่มีแนวคิดการงดใช้ความรุนแรงได้เป็นแรงบันดาลใจแก่คนทั่วโลก

เรามีหน้าที่ทำให้คนรุ่นอนาคตอาศัยอยู่บนโลกที่ปราศจากสงคราม ความรุนแรง และความเกลียดชัง พร้อมร่วมมือกันสร้างสิ่งริเริ่มต่างๆ ที่ทำให้โลกดีขึ้น และนั่นคือสิ่งที่อินเดียกำลังทำ เราเป็นผู้นำในการก่อตั้ง International Solar Alliance เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ เราทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสร้างความร่วมมือสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ (Coalition for Disaster Resilient Infrastructure) เพื่อให้ความช่วยเหลือทุกประเทศในการร่วมกันต่อสู้ภัยพิบัติและเหตุการณ์หลังภัยพิบัติ

• ภารกิจถัดไปขององค์การวิจัยด้านอวกาศของอินเดีย (ISRO) คืออะไร

หลังอินเดียเกือบประสบความสำเร็จในการนำยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์เป็นประเทศที่ 4 ของโลก ยานอวกาศ “จันทรายาน-2” ทำภารกิจสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง แม้การลงจอดของยานบนดวงจันทร์อาจไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ได้วางแผนไว้ แต่ถือเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆวัตถุประสงค์ ยานโคจรเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์และดำเนินโครงการทางวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ ส่งภาพและข้อมูลเกี่ยวกับดวงจันทร์ผ่านอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ นับว่าเป็นการเพิ่มความรู้เกี่ยวกับดาวเพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุดของโลก ทั้งยังกระตุ้นความสนใจของเยาวชนหลายล้านคนทั้งในอินเดียและทั่วโลกที่จะศึกษาเกี่ยวกับอวกาศและวิทยาศาสตร์ องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดียมีภารกิจอีกหลายภารกิจเร็วๆนี้ รวมถึงภารกิจยานอวกาศที่ควบคุมโดยนักบินอวกาศที่มีชื่อว่า กากันยาน (Gaganyaan)

...

• ประกาศให้อินเดียปราศจากการขับถ่ายตามพื้นที่สาธารณะทำได้อย่างไรและยังมีอุปสรรคอะไร

เมื่อประชาชนในประเทศอยู่ข้างคุณ อะไรก็สำเร็จได้ นี่คือเบื้องหลังความสำเร็จของโครงการ Swachh Bharat Mission (พันธกิจอินเดียสะอาด) เราดำเนินโครงการมาตั้งแต่ 2 ต.ค.2557 ทั่วประเทศอินเดีย เป็นโครงการที่ภาครัฐไม่ได้เป็นผู้กำกับดูแล แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่ประชาชนมี ส่วนร่วม และเมื่อประชาชนกว่า 1,300 ล้านคน ตัดสินใจลงมือทำ ไม่มีเป้าหมายใดที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีการก่อสร้างห้องน้ำแล้วกว่า 150 ล้านแห่ง โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อคนจนและสตรีในประเทศส่วนใหญ่ นอกจากเน้นการปรับปรุงเรื่องสุขอนามัยและสุขภาพที่ดีแล้ว การสร้างห้องน้ำถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท นี่เป็นผลจากความพยายามและความมุ่งมั่นของรัฐบาลและประชาชนที่ร่วมมือกัน ซึ่งเป็นโครงการที่ทำเพื่อท่านมหาตมะ คานธี บิดาแห่งชาติ ที่เชื่อว่าความสะอาดคือการดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของศาสนา จึงประกาศให้อินเดียเป็นประเทศที่ปราศจากการขับถ่ายตามพื้นที่สาธารณะ ในโอกาสครบรอบ 150 ปีชาตกาลท่านมหาตมะ คานธี เมื่อ 2 ต.ค.

• ดำเนินความสัมพันธ์แบบสมดุลกับสหรัฐฯและจีนท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงอย่างไร

อินเดียดำเนินนโยบายอัตตาณัติทางยุทธศาสตร์และนโยบายการต่างประเทศแบบอิสระ ความสัมพันธ์ของเรากับประเทศประเทศหนึ่ง เป็นอิสระจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นๆกับประเทศที่สาม จีนและอินเดียเป็นสองประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก มีอารยธรรมเก่าแก่ และเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อีกทั้งยังเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด

ดังนั้น ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมจึงมีความสำคัญ ไม่เฉพาะต่อสองประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเอเชียและทั่วโลกด้วย ผมได้มีโอกาสพบกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มากกว่า 18 ครั้ง และล่าสุดประชุมแบบไม่เป็นทางการครั้งที่สองกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในอินเดีย สหรัฐฯและอินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยเก่าแก่ที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลกตามลำดับ

...

ความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกของทั้งสองประเทศนับว่าเป็นการพัฒนาที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียในศตวรรษนี้ จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สมาชิกพรรครีพับลิกันและสมาชิกจากพรรคเดโมแครต เข้าร่วมเวทีปราศรัยต่อประชาคมเชื้อสายอินเดียที่เมืองฮิวส์ตัน แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนจากทั้งสองพรรคต่อความสัมพันธ์ของอินเดีย-สหรัฐฯ ความสัมพันธ์ของอินเดียกับสหรัฐฯและจีนนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกัน และดำเนินไปตามผลประโยชน์ของประเทศ รวมถึงผลประโยชน์อันสูงสุดต่อสันติสุขและความก้าวหน้าของโลก.