เมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา ตรวจพบระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ระบบนิเวศของโลก เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและความต้องการบรรลุผลลดอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยก็พยายามหาหนทางแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็มีสมมติฐานว่า “ดิน” จะดูดซับปริมาณคาร์บอนได้มากแค่ไหนเมื่อมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ เพราะเราต่างรู้ว่าพืชจะดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโดยแปลงให้เป็นน้ำตาลและแป้งผ่านการสังเคราะห์แสง ยิ่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมากเท่าไหร่พืชก็จะปรุงอาหารได้เร็วขึ้นเท่านั้น

เมื่อเร็วๆนี้นักวิจัยนานาชาติจาก 28 สถาบันใน 9 ประเทศ เผยว่าประสบความสำเร็จในการหาปริมาณความอุดมสมบูรณ์ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยใช้แบบจำลองจากระบบนิเวศภาคพื้นดิน 12 แบบ และการสังเกตการณ์ 7 สนามการทดลองความบริบูรณ์ของคาร์บอนไดออกไซด์ ทีมพบว่า ความไวของแหล่งคาร์บอนทางตอนเหนือเพิ่มความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ โดยสัมพันธ์กับความไวในระดับพื้นที่ของแบบจำลอง

เมื่อระบบนิเวศบนบกดูดซับคาร์บอนมากขึ้น กว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์พบว่าความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในอากาศ ได้ช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดินซึ่งเป็นกระบวนการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์เชิงปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สิ่งเหล่านี้สำคัญต่อการทำความเข้าใจและการคาดการณ์ว่าสภาพอากาศจะส่งผลกระทบและได้รับผลกระทบอย่างไรจากวัฏจักรคาร์บอน

ดร.เปียว ซี่หลง จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยว่า การวิจัยนี้ช่วยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบด้านความอุดมสมบูรณ์ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแหล่งคาร์บอนบนพื้นโลก ชี้ให้เห็นความสามารถของระบบนิเวศบนบกในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น แต่ถือเป็นข่าวดีเพราะกระบวนการนี้จะชะลอการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

...

โดยเชื่อว่าแนวทางและเทคนิคใหม่นี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อชุมชนวิทยาศาสตร์ในอนาคต.

ภัค เศารยะ