...แต่ละปีผู้คนชาวบังกลาเทศถูกสังเวยชีวิตจากอุบัติเหตุรถไฟ หรือไม่ก็ฆ่าตัวตายด้วยวิธีให้รถไฟชนทับมากเฉลี่ยราว 1,000 ราย...
การล้มตายของผู้คนเกี่ยวข้องกับรถไฟตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมตัวเลขกลุ่มคนนิยมใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างเดินหรือไม่ก็สวมหูฟังใช้งานโทรศัพท์มือถือเกือบตลอดเวลาด้วยจำนวนมาก
นับตั้งแต่ช่วงปี 2553 หรือเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ชาวบังกลาเทศในพื้นที่กรุงธากาและแถบปริมณฑลล้มตายเพราะรถไฟเฉี่ยวชนและตายระหว่างสวมหูฟังโทรศัพท์แล้วมากราว 535 ราย
“กลุ่มคนติดหูฟัง” และกลุ่มคนนิยมก้มหน้าก้มตาใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างเดิน ถูกเรียกกันว่า “เฮดโฟน วอล์กเกอร์ส”-- Headphone Walkers ส่วนใหญ่คือกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
ช่วงปี 2557 “เฮดโฟน วอล์กเกอร์ส” ล้มตายมากที่สุดกว่า 109 ราย ตัวเลขความสูญเสียชีวิตเริ่มลดลงหลังจากนั้นเพราะทางการตระหนักถึงปัญหาและเริ่มมีการรณรงค์ป้องกันปัญหานี้อย่างจริงจังมากขึ้น ทำให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุใช้โทรศัพท์และหูฟังระหว่างข้องแวะใกล้ทางรถไฟช่วงปีที่แล้วเหลือราว 54 ราย
แผนรณรงค์ของรัฐบาลบังกลาเทศเพื่อให้ประชาชนตระหนักระมัดระวังการใช้โทรศัพท์มือถือและหูฟังระหว่างการเดินทางเครือข่ายขนส่งสาธารณะ อาทิ ใช้ป้ายประกาศขนาดใหญ่ ใช้ใบปลิว ใช้สื่อผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงใช้วิธีการแบบดั้งเดิม คือการประกาศเสียงตามสายผ่านลำโพงเสียงดังตามสถานที่สาธารณะ เพราะชาวบังกลาเทศนิยมเดินทางไปมาในชีวิตประจำวันด้วยระบบรถไฟ เช่นเดียวกับหลายประเทศแถบเอเชียใต้ รวมถึงอินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา
แต่ละปีชาวบังกลาเทศประชากรมากราว 165 ล้านคน เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางรถไฟทุกกรณีมากเกือบ 6,000 คน เทียบกับระยะทางเครือข่ายรถไฟทั่วประเทศราว 2,800 กม. ขณะที่อินเดียมีผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับรถไฟเฉลี่ยปีละราว 25,000 คน แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุ “เฮดโฟน วอล์กเกอร์ส” ในอินเดียยังไม่มีข้อมูลสถิติชัดเจน.
...
อานุภาพ เงินกระแชง