เมื่อใดที่เกิดเหตุกราดยิงสังหารหมู่ผู้คน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ มักมีกระแสเรียกร้องให้ “ปฏิรูปกฎหมายควบคุมอาวุธปืน” ซึ่งหลังนายเบรนตัน ทาร์แรนต์ ชาวออสเตรเลียวัย 28 ปี พวกขวาจัดเกลียดชังผู้อพยพ ก่อเหตุยิงสังหารหมู่ 49 ศพ ที่มัสยิด 2 แห่งในเมืองไครสต์เชิร์ช และลินวูดในนิวซีแลนด์ เมื่อ 15 มี.ค. ก็เช่นกัน

นางจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ประกาศว่า ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงกฎหมายควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดขึ้น เพราะคนร้ายใช้ปืนกึ่งอัตโนมัติถึง 5 กระบอกและมีใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนด้วย

ตามกฎหมายนิวซีแลนด์ ผู้ที่อายุถึง 16ปี ก็สามารถครอบครองอาวุธปืนได้แล้ว และผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถครอบครองปืนกึ่งอัตโนมัติแบบทหารได้โดยต้องได้รับใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนก่อน หลังผ่านการตรวจเช็กประวัติอาชญากร การแพทย์ ภาวะเจ็บป่วยทางจิต ยาเสพติด การก่อความรุนแรงในครอบครัว

ผู้ได้รับใบอนุญาตแล้วจะซื้อปืน “มากเท่าใดก็ได้” แม้จะซื้อปืนกึ่งอัตโนมัติแบบทหาร ปืนพกและอาวุธปืนที่ถูกควบคุม ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากตำรวจก่อน แต่ที่สำคัญ ปืนส่วนใหญ่ “ไม่ต้องลงทะเบียน” ซึ่งมีน้อยประเทศมากที่มีกฎหมายหย่อนยานเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้ ตำรวจจึงไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่ามีปืนที่ถูกครอบครองถูกกฎหมายอยู่เท่าใด แม้ในปี 2559 ประเมินว่าพลเรือนครอบครองปืนถูกกฎหมายถึง 1.2 ล้านกระบอก เท่ากับปืน 1 กระบอกต่อคน 4 คน จากประชากรทั้งหมดราว 4.5 ล้านคน

จากสถิติของตำรวจในเดือน มิ.ย.2561 มีผู้มีใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนที่ยังไม่หมดอายุถึง 246,952 คน รวมทั้งผู้ค้าปืนและบุคคลทั่วไป ส่วนสถิติปี 2560 มีผู้ยื่นขอใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน 43,509 คน และได้รับอนุญาตถึง 43,321 คน หรือ 99.56%!! การซื้อหาครอบครองปืนจึงทำได้ง่ายมากในนิวซีแลนด์

...

คดียิงสังหารหมู่ในแดนกีวีครั้งร้ายแรงที่สุดก่อนหน้านี้เกิดขึ้นในปี 2533 ที่เมืองริมชาย ทะเลเล็กๆชื่อ “อราโมอานา” บนเกาะใต้ มีผู้เสียชีวิต 13 คน ส่งผลให้มีการแก้กฎหมายควบคุมอาวุธปืน พ.ศ. 2526 ให้ควบคุมปืนกึ่งอัตโนมัติเข้มงวดขึ้น และมีการปรับแก้กฎหมายเพิ่มเติมในปี 2555 ระบุอาวุธปืนที่ถูกควบคุม

แต่นั่นก็ดูเหมือนยังไม่เพียงพอ ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ขึ้นง่ายๆ!

บวร โทศรีแก้ว