ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีท่าทีรอมชอมกับเกาหลีเหนือ ซึ่งสหรัฐฯ เคยตราหน้าเป็น 1 ใน “อักษะปีศาจ” ร่วมกับอิรักและอิหร่าน แต่เขากลับใช้นโยบายแข็งกร้าวกับอิหร่าน ถึงขั้นยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ 6 ชาติมหาอำนาจทำไว้กับอิหร่าน และสั่งคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้งและหนักขึ้น

6 ชาติมหาอำนาจ หรือ “พี 5+1” คือสหรัฐฯ (ยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา) อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย เยอรมนี ทำข้อตกลงปี 2558 กำหนดให้อิหร่านจำกัดโครงการนิวเคลียร์ที่สงสัยว่าจะใช้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่ทรัมป์เห็นว่าเป็นข้อตกลงที่แย่และเสียเปรียบอิหร่านสุดๆ และไม่ทำให้อิหร่านหยุดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ จึงสั่งยกเลิก

มหาอำนาจอีก 5 ชาติที่เป็นภาคีข้อตกลงต่างคัดค้านทรัมป์สุดตัว ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี แกนนำอียูถึงขั้นประกาศตั้ง “กลไกสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางการค้า” (INSTEX) เพื่อรักษาข้อตกลงนิวเคลียร์และผลประโยชน์ของบริษัทต่างๆของอียูกับอิหร่านไว้ แต่ดูเหมือนอิหร่านจะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้นัก

คำเตือนของอยาตุลลอฮ์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของอิหร่านต่อคณะรัฐบาลตั้งแต่เดือน ก.ค. 2561 แต่เพิ่งถูกเผยแพร่เมื่อ 4 มี.ค. สะท้อนเรื่องนี้ชัดเจน โดยคาเมเนอี ชี้ว่าพวกยุโรปล้วนเลวร้ายทั้งสิ้น มีนโยบายที่เป็นภัยต่ออิหร่านมาตลอดช่วง 100-200 ปีหลัง จึงอย่าไปหวังพึ่งยุโรป ส่วนการผ่อนคลายมาตรการ คว่ำบาตรตามข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของอิหร่านแต่อย่างใด

เดือนที่แล้ว คาเมเนอีก็เตือนรัฐบาลว่าอย่าถูกหลอกลวงจาก “รอยยิ้ม” ของชาติยุโรป

...

จริงๆ แล้ว การเมืองภายในอิหร่านมีความขัดแย้งกันมายาวนาน โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก ยุคนี้ก็เช่นกัน โดยขณะที่ฝ่ายประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ซึ่งเป็นพวก “สายกลาง” สนับสนุนข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 และการผูกมิตรไมตรีกับสหรัฐฯ และยุโรป แต่ฝ่าย “สายเหยี่ยว” ซึ่งสนับสนุนคาเมเนอี กลับต่อต้านการประนีประนอมใดๆกับแรงกดดันของต่างชาติ เพราะเห็นว่าขัดกับคุณค่าของ “การปฏิวัติอิสลาม”

ความขัดแย้งภายในที่รุนแรงนี้ทำให้นายโมฮัมหมัด จาวาด ซาริฟ รมว.ต่างประเทศอิหร่าน นักการทูตผู้โชกโชน หัวหน้าทีมเจรจาของอิหร่านจนทำให้มีข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ถึงกับประกาศลาออกทางอินสตาแกรมเมื่อเดือนที่แล้ว แต่รูฮานีไม่อนุมัติ หลัง ส.ส.ส่วนใหญ่ร่วมส่งจดหมายเปิดผนึกขอให้เขายับยั้งการลาออก

ดูๆแล้ว นอกจากอิหร่านต้องต่อสู้กับศัตรูภายนอก การเมืองภายในยังงัดกันไม่เบาด้วย นโยบายใดๆที่ออกมาจึงขึ้นอยู่กับว่า “สายกลาง” หรือ “สายเหยี่ยว” ใครจะแข็งกว่ากัน!

บวร โทศรีแก้ว