มีการปักใจเชื่อมานานว่าผู้ร้ายที่กวาดเอาไดโนเสาร์ไปหมดโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อนคือดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกที่คาบสมุทรยูคาทานในเม็กซิโก จากหลักฐานสำคัญคือหลุมอุกกาบาตชิกซูลุบ แต่นักธรณีวิทยาหลายคนก็มองว่าเรื่องนี้ยังเป็นปริศนาว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงกันแน่ พวกเขาจึงมองหาหลักฐานอื่นๆในเวลาต่อมา นั่นคือหินบะซอลต์ชนิดต่างๆ ที่เกิดจากลาวาที่เย็นตัวของภูเขาไฟเดค-คานในอินเดีย ที่ช่วยให้สืบค้นถึงจังหวะที่ภูเขาไฟปะทุ
ล่าสุด 2 กลุ่มนักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในสหรัฐอเมริกา และทีมนักธรณีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลในอังกฤษเผยถึงการวิจัยใหม่ว่า จากการตรวจสอบหินและคำนวณจนสามารถสร้างเส้นเวลาที่แม่นยำในการระเบิดของภูเขาไฟเดคคาน พบว่าการปะทุอย่างรุนแรงเกิดขึ้น 4 ครั้งในระหว่าง 66.4-65.6 ล้านปีก่อน และชี้ว่าการปะทุครั้งที่ 2 น่าจะเริ่มขึ้นหลายหมื่นปีก่อนเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ โดยทั้ง 2 ทีมวิจัยเผยว่า การปะทุของภูเขาไฟเดคคานน่าจะมีบทบาทในการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
ทั้งนี้ การเริ่มต้นปะทุของภูเขาไฟเดคคานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศช่วงปลายยุคครีเทเชียส ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก ทำให้สภาพอากาศร้อนขึ้นจนอาจทำให้ไดโนเสาร์อ่อนแอลงและนำไปสู่การสูญพันธุ์นั่นเอง.