ขณะนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ของอังกฤษ เปิดรับฟังข้อเสนอแก้ไขข้อตกลงอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) จากเหล่า ส.ส.หลากพรรค เร่งหาทางให้สภาสนับสนุน หลังข้อตกลงเบร็กซิตถูกสภาผู้แทนฯลงมติไม่รับเมื่อสัปดาห์ก่อน หากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ใน 29 มี.ค.โดยไม่มีข้อตกลง อังกฤษที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลกอาจสูญเสียสิทธิพิเศษเข้าถึงตลาดอียูในชั่วข้ามคืน และผลกระทบจะตกกับทุกภาคส่วน

ล่าสุดเมื่อ 22 ม.ค. เหล่า ส.ส.อังกฤษต่างร่วมกันเสนอแก้ไขข้อตกลงเบร็กซิต ซึ่งมีรวมทั้งเสนอแผนเพื่อป้องกันเบร็กซิตแบบหักดิบ ไม่มีข้อตกลงและแผนขยายเส้นตายการออกจากอียู

ขณะที่พรรคแรงงาน พรรคฝ่ายค้าน นำโดยนายเจเรมี คอร์บิน เสนอแผนบีบรัฐบาลให้เวลาสภาผู้แทนฯพิจารณา และลงมติเงื่อนไขเพื่อเลี่ยงเบร็กซิตแบบไม่มีข้อตกลง รวมทั้งข้อเสนอให้จัดทำ ประชามติเบร็กซิตรอบใหม่ ซึ่งต่างเป็นเงื่อนไขที่นายกฯเมย์ปฏิเสธมาตลอด

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอของพรรคแรงงานมีโอกาสประสบความสำเร็จน้อยเพราะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคอนุรักษนิยมของนายกฯเมย์ ซึ่งไม่อยากสนับสนุนแผนของนายคอร์บิน แม้ว่าประเด็นประชามติรอบ 2 จะถูกจุดติด มีการพูดถึงอย่างเปิดเผยและได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักรณรงค์ที่ต้องการให้ยุติเบร็กซิตโดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้ ไม่ใช่ข้อเสนอทั้งหมดที่จะเข้าสู่การโหวตในสภา นายจอห์น เบอร์คาว ประธานรัฐสภา จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเข้าสู่การอภิปรายและลงมติในรัฐสภาใน 29 ม.ค.นี้ต่อไป โดย 1 ในเงื่อนไขสำคัญในข้อตกลงเบร็กซิตคือ แบ็กสต็อป หรือกรณีพรมแดนไอร์แลนด์ เป็นการการันตีทางกฎหมายว่า พรมแดนระหว่างไอร์แลนด์ เหนือ (ของอังกฤษ) กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์จะยังเปิดเสรี ถ้าอังกฤษและอียูไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระยะยาวร่วมกันได้

...

ส่วนเมื่อ 21 ม.ค. นายกฯเมย์ประกาศให้คำมั่นจะยึดเอาหลักการแบ็กสต็อปซึ่งอังกฤษและอียูเชื่อว่า การกลับมาเข้มงวดพรมแดนหลังเบร็กซิตจะกระทบกระบวนการสันติภาพในไอร์แลนด์ และยังประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียม 65 ปอนด์ (ราว 2,663 บาท) ที่พลเมืองจากกลุ่มประเทศอียูต้องจ่ายเพื่อรักษาสิทธิ์อยู่อาศัยในอังกฤษต่อหลังเบร็กซิต แต่ไม่เผยรายละเอียดการปรับเปลี่ยนแผนเบร็กซิตมากนัก.