ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ยืนยันต้องสร้างกำแพงยาวราว 500 กิโลเมตรกั้นพรมแดนเม็กซิโกให้ได้ และขู่จะใช้อำนาจประธานาธิบดีประกาศ “ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ” (National Emergency) เพื่อสร้างกำแพง โดยไม่ต้องรออนุมัติจาก “สภาคองเกรส”
ทรัมป์ยืนกรานให้สภาคองเกรสบรรจุงบฯ สร้างกำแพงมูลค่า 57,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 182,400 ล้านบาท) เข้าในงบประมาณรัฐบาลปี 2562 ด้วย แต่ถูกพรรคเดโมแครตซึ่งเพิ่งได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ในการเลือกตั้งกลางเทอมปีที่แล้วปฏิเสธเด็ดขาด กฎหมายงบประมาณจึงยังไม่ผ่านสภา
ความขัดแย้งเรื่องนี้ส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลบางส่วนต้อง “ชัตดาวน์” ปิดทำการ พนักงานกว่า 800,000 คน จาก 9 กระทรวงต้องหยุดงาน หรือทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างมานานกว่า 3 สัปดาห์แล้ว ทำลายสถิติชัตดาวน์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา
ทรัมป์อ้างว่าจำเป็นต้องสร้างกำแพงเพื่อสกัดผู้อพยพผิดกฎหมายและยาเสพติดซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงและเป็นวิกฤติของชาติ อ้างว่าเฮโรอีนที่ขายในสหรัฐฯถึง 90% มาจากเม็กซิโก และชาวอเมริกันมากมายถูกผู้อพยพผิดกฎหมายฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยมเลือดเย็น
แต่พรรคเดโมแครตชี้ว่า ทรัมป์พูดเกินเหตุให้ดูน่ากลัวโดยไม่อิงข้อเท็จจริง เพราะมี “อีโก้” สูง เพื่อรักษาคำมั่นสัญญาในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2559 และรักษาฐานเสียงจากฝ่ายอนุรักษนิยมสุดขั้วในพรรครีพับลิกันเท่านั้น เพราะข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯเองระบุชัดเจนว่า ยาเสพติดส่วนใหญ่ถูกลักลอบนำเข้าสหรัฐฯ ผ่านจุดผ่านแดนที่ถูกกฎหมาย สถิติยังระบุว่าผู้อพยพผิดกฎหมายก่ออาชญากรรมต่ำกว่าชาวอเมริกันที่เกิดในประเทศอย่างมาก
นอกจากนี้ จำนวนผู้อพยพจากอเมริกากลาง ทั้งฮอนดูรัส กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และเม็กซิโก ที่ลักลอบข้ามพรมแดนเม็กซิโกเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย ยังลดลงมาก จาก 1.6 ล้านคนในปี 2543 เหลือไม่ถึง 4 แสนคน ในปีที่แล้ว แม้ในเดือน พ.ย.2561 มีผู้อพยพถูกจับหรือผลักดันกลับที่พรมแดนเม็กซิโกเฉลี่ยวันละ 2,000 คน แต่ก็ไม่ถึงขั้นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ!
...

ถึงกระนั้น คำขู่ของทรัมป์ ก็ทำให้เรื่อง “ภาวะ ฉุกเฉินแห่งชาติ” เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที!
ปกติแล้ว การประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติจะมีขึ้นขณะประเทศชาติเผชิญวิกฤติร้ายแรง เพื่อให้ประธานาธิบดีสามารถเข้าถึง “อำนาจพิเศษ” ที่บรรจุอยู่ในกฎหมายอื่นๆกว่า 100 ฉบับ เพื่อ ให้มีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องรออนุมัติจากสภาคองเกรสซึ่งไม่มีเวลาพิจารณาเพียงพอ
แม้หลายฝ่ายชี้ว่าการสร้างกำแพงยังไม่จำเป็นเร่งด่วนถึงขั้นต้องใช้ภาวะฉุกเฉิน แต่ถ้าทรัมป์ทำจริง เขาอาจใช้กฎหมายบางมาตราที่เปิดช่องไว้ รวมทั้ง “โยก” งบประมาณจากโครงการของ “กองทัพ” ที่ได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสแล้วมาเป็นงบสร้างกำแพงแทน เช่นงบของ “หน่วยวิศวกรกองทัพ” (Army Corps of Engineers) ซึ่งถูกตั้งไว้เพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ แต่ทรัมป์ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการสร้างกำแพงคือโครงการก่อสร้างด้านการทหาร
นอกจากนี้ ถ้าทรัมป์ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อสร้างกำแพงจริง ฝ่ายต่อต้าน รวมทั้งพรรคเดโมแครต กลุ่มสิทธิมนุษยชน กลุ่มเสรีภาพพลเมืองต่างๆ ต้องสู้สุดตัวแน่ ส่วนสภาคองเกรสก็อาจลงมติคัดค้าน แต่ถ้าผ่านสภาคองเกรสได้ ก็อาจมีการยื่นฟ้องร้องคัดค้านในศาลอย่างเข้มข้นยืดเยื้อ คล้ายกรณีประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน พยายามประกาศภาวะฉุกเฉินให้ “อุตสาหกรรมเหล็กกล้า” เป็นกิจการของรัฐในช่วงสงครามเกาหลี
แต่ครั้งนั้น ศาลพิพากษาปฏิเสธความต้อง การของทรูแมน แม้จะมีความจำเป็นเร่งด่วนยิ่งกว่ากันมาก คดีนั้นจึงเป็นคดีตัวอย่าง ซึ่งอาจทำให้ศาลตัดสินคว่ำการสร้างกำแพงของทรัมป์ด้วย
จริงๆแล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้อำนาจประกาศภาวะฉุกเฉินบ่อยครั้ง เช่น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ใช้ถึง 13 ครั้ง ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ใช้ถึง 12 ครั้ง ส่วนทรัมป์เองก็ใช้แล้ว 3 ครั้ง แต่เป็นการใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นที่ไม่เป็นข้อถกเถียง เช่น ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 หรือใช้เพื่ออายัดทรัพย์สินผู้กระทำผิดกฎหมายทางไซเบอร์ร้ายแรง เป็นต้น
...

การประกาศภาวะฉุกเฉินที่รู้จักกันดีที่สุดคือกรณีประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี.รูสเวลต์ ใช้กักกันตัวชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นกว่า 110,000 คน หลังกองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ใน พ.ศ.2484 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ใช้เพื่อลงนามอนุมัติให้ดักฟังโทรศัพท์และสอบสวนผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายด้วยวิธีการโหดเหี้ยม รวมทั้งวิธี “วอเตอร์บอร์ดดิ้ง” ซึ่งเข้าข่ายการทรมานหลัง ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำ ไปก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ ในปี 2544 หรือเหตุการณ์ “9/11” ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน
...
การดึงดันจะสร้างกำแพงของทรัมป์จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง เขาจะฝ่าฟันอุปสรรคมากมายและหาเงินมหาศาลมาจากไหน ขณะที่รัฐบาลเม็กซิโกก็ย้ำว่าจะไม่ให้เงินสร้างกำแพงเด็ดขาดแม้ถูกทรัมป์กดดันหนัก
เรื่องนี้ยังอาจปลุกให้ “สภาคองเกรส” ตื่นขึ้นมาทบทวน “กฎหมายภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ ค.ศ.1976” (1976 National Emergencies Act) ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีล้นเหลือในการประกาศภาวะฉุกเฉินด้วย!
บวร โทศรีแก้ว