หากนึกถึงประเทศที่มีนโยบายทางสิ่งแวดล้อมเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นการหันมาใช้พลังงานสะอาด พลังงานทดแทน คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเก็บกักพลังงาน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ชื่อลำดับต้นๆที่นึกถึงก็คือสวีเดน แต่ที่โดดเด่นมากและถูกกล่าวขานไปทั่วโลก ก็คือจากนโยบายรีไซเคิลขยะเพื่อนำมาผลิตพลังงานไฟฟ้า แต่ลำพังแค่การปฏิบัติงานจากภาครัฐก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าขาดความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนในประเทศ

เรื่องของแพขยะลอยในทะเลอาเซียนก็เป็นสิ่งที่ก่อความกังวลต่อหลายฝ่าย และเพิ่งเป็นข่าวดังจนองค์การสหประชาชาติจับตา เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการเสียชีวิตของวาฬนำร่องครีบสั้นใน จ.สงขลา เมื่อตรวจสอบก็พบจำนวนขยะพลาสติกสะสมอยู่ในท้องวาฬดังกล่าวถึง 8 กิโลกรัม

ในวาระที่ไทยและสวีเดนครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 150 ปี จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้ง 2 ประเทศจะร่วมมือแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการกำจัดขยะพลาสติกในทะเลที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ภายใต้โครงการ “Reducing marine litter by addressing the manage-ment of the plastic value chain in Southeast Asia” เป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กับสำนักงานประสานงานทางทะเลภูมิภาคเอเชียตะวันออก (COBSEA) ซึ่งร่วมแถลงโดยนายสตัฟฟาน แฮร์สเตริม เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และเฮเลน อัวเกรียน เอกอัครราชทูตเพื่อกิจการทางทะเลแห่งสวีเดน

ผู้แทนฝ่ายไทยคือ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงนโยบายว่ารัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงกำหนดให้ การแก้ไขปัญหามลพิษและขยะทางทะเลเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะนำไปถกในเวทีประชุมนานาชาติอาเซียนต่อไป

...

ในภาคเอกชน มีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งตั้งเป้าและวางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังที่จะช่วยแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก แต่สิ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมทำได้ง่ายๆ และทำได้เลยทันทีก็คือลดการใช้พลาสติกรวมถึงรู้จักคัดแยกขยะตามประเภทเพื่อที่จะนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้.


ภัค เศารยะ