ศุกร์พรุ่งนี้ สนง.คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พูด “แนวทางการคิด พัฒนางาน ให้ก้าวทันโลก” รับใช้ข้าราชการและบุคลากร 350 คน ที่เดอะบลูม by ทีวีพูล ปากช่อง นครราชสีมา ศุกร์พรุ่งนี้ 13.00-15.00 น.
อาจารย์และสื่อชาวกัมพูชาท่านหนึ่งเล่าถึงสถานการณ์ในกัมพูชาให้ฟังว่า กัมพูชากำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก แต่เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงจนรับชีวิตใหม่กันได้อย่างลำบากยากเย็น ปัจจุบันชาวกัมพูชานิยมสื่อโซเชียลมีเดียอย่างมาก ผู้อ่านท่านไปดูเถิดครับ ตามบ้านเรือนของชาวกัมพูชาจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโทรทัศน์ เพราะทุกความบันเทิงสามารถเข้าถึงได้บนมือถือของตัวเอง จึงทำให้คนที่ทำสื่อใหญ่ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ และสื่อโทรทัศน์ในกัมพูชาทุกวันนี้ เหลือแต่ความสำเร็จในอดีตเท่านั้นที่พอเอามาอวดมาพูดถึงได้
และด้วยความที่สังคมส่วนใหญ่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ชาวกัมพูชาจำนวนไม่น้อยจึงดิ้นรนที่จะทำตนให้เป็นที่รู้จักด้วยการแสดงพฤติกรรมแปลกๆ ลงในสื่อโซเชียลมีเดีย แต่ดังในเฟซบุ๊กแฟนเพจได้เพียงวันสองวันก็หมดกระแส พอหมดกระแสแล้วก็ต้องมาปั่นกระแสกันใหม่เพื่อให้ตัวเองและครอบครัวอยู่รอด
แม้แต่ลูกเล็กเด็กแดงในกัมพูชาใช้โทรศัพท์มือถือ สิ่งที่ตามมาก็คือ ผู้คนมีภาวะสายตาสั้นกันเยอะมาก ทั้งตาสั้นธรรมดาและตาสั้นชนิดร้ายแรง อาจารย์ท่านเล่าติดตลกว่า คนกัมพูชาตาหยีกันมากขึ้น เพราะสายตาสั้นมองไม่ชัด ต้องทำตาหยีถึงจะมองชัด ผู้อ่านท่านคงมองออกนะครับว่าพวกร้านตัดแว่น หรืออาชีพที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับแว่นตา คอนแทกเลนส์ และอาหารเสริมบำรุงสายตาน่าจะเป็นธุรกิจที่มีอนาคตในกัมพูชา
ที่น่าเห็นใจก็คือ คนกัมพูชาสถานะปานกลางกลางที่โดนเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำลายอาชีพในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลายคนดิ้นรนหนีตายด้วยการประกอบอาชีพขายตรงในระบบ MLM ซึ่งขายตรงส่วนใหญ่ก็มาจากประเทศไทยครับ บริษัทจากประเทศไทยเหล่านี้มักจะไปเช่าอาคาร หรือโรงแรมตามเมืองใหญ่ของกัมพูชาเพื่อใช้บรรยายขยายงาน แล้วให้สมาชิกแต่ละครัวเรือนสต๊อกสินค้าจากไทยกันในจำนวน 30,000-100,000 บาท เมื่อขายให้ญาติพี่น้องจนครบแล้ว ก็ขายต่อไม่ออก ทำให้มีสินค้าค้างสต๊อกบานเบอะเยอะแยะและสร้างความเสียหายให้ชาวกัมพูชาจำนวนไม่น้อย
...
แนวโน้มอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในกัมพูชาคือนายทุนท้องถิ่นเริ่มเป็นลูกน้องคนจีน เป็นตัวแทนคนจีนโดยไม่รู้ตัว แรกเริ่มเดิมทีที่คนจีนเข้ามาในประเทศ ก็มักจะเอาใจนายทุนท้องถิ่นและประกาศว่าจะเข้ามาเป็นหุ้นส่วน ในระหว่างการคบค้าสมาคมกันใหม่ๆ คนจีนเอาใจคนกัมพูชาสารพัด คนกัมพูชาพยายามสร้างความประทับใจด้วยการเล่าถึงการงานของตนเอง และเมื่อเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองออกมาโชว์จนหมดแล้ว คนจีนก็ทำธุรกิจนั้นด้วยตนเอง ด้วยทุนที่ใหญ่กว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่า ชั่วเวลาไม่นาน ธุรกิจของคนกัมพูชาก็หยุด แต่ธุรกิจประเภทเดียวกันของคนจีนกลับเดินหน้า เมื่อไม่มีที่ไป นายทุนท้องถิ่นก็ต้องทำงานกับคนจีนในสถานะลูกน้อง เป็นลูกจ้างของคนจีน
สถาบันการศึกษาจากต่างประเทศที่ไปเปิดสาขา หรือเปิดวิทยาเขตในเมืองใหญ่ในกัมพูชา เดิมธุรกิจอู้ฟู่ เพราะคนกัมพูชาอยากจะยกสถานะตัวเองให้เป็นบัณฑิต มหาบัณฑิต แต่วันนี้ทัศนคติเรื่องการศึกษาในกัมพูชาเปลี่ยนไปครับ แต่ก่อนง่อนชะไร เจอกัมพูชาคนไหนก็มักจะอวดว่า ลูกฉันจบจากที่โน่นที่นี่ แต่วันนี้ ไม่อวดกันเรื่องสถาบันการศึกษาแล้วครับ คนกัมพูชาสมัยนี้สนใจแต่ว่า คุณทำงานได้หรือเปล่าเท่านั้น วิชาทางสังคมศาสตร์ในหลายสถาบันจึงไม่มีคนสนใจไปเรียน เมื่อมีผู้เรียนน้อย ก็ต้องปิดไป อาจารย์ก็ตกงาน
แม้แต่สถานบริการต่างๆ ก็มีจำนวนน้อยลงไปมาก ความที่มีโซเชียลมีเดีย มีการแอดเฟรนส์เป็นเพื่อนกันข้ามจังหวัด ข้ามประเทศ คุยกันออนไลน์ไปได้สักพัก ก็บินไปเจอกัน เที่ยวด้วยกัน เทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่คุกคามแม้แต่ธุรกิจให้บริการทางเพศ เพราะทำให้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้เอง โดยไม่ต้องมีสถาบันกลางเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป
แนวโน้มกัมพูชาที่เปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามเพื่อให้รู้เท่าทันกระแสของเพื่อนบ้านครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
pasalok1998@gmail.com