เป็นที่รู้กันดีว่า หลังยุค “พญามังกร” ตื่นขึ้นจากการหลับใหล อิทธิพลอำนาจของ “จีน” ที่นับวันรุ่งโรจน์ร่ำรวยมั่งคั่งก็แผ่ขยายออกไปไม่หยุดยั้งทั่วโลก ทั้งในเชิงการทูต การทหาร เศรษฐกิจ การเงิน เทคโนโลยี ฯลฯ ทำให้ “มหาอำนาจตะวันตก” ที่เคยเป็นพี่ใหญ่เฝ้าจับตามองจีนอย่างหวาดระแวง
นอกจากใช้ “อำนาจอ่อน” เช่นการเผยแพร่เชิงวัฒนธรรมในการรุกคืบอย่างต่อเนื่องแล้ว จีนยังใช้ “การเงิน” เป็นหัวหอกในการรุก อีกทางหนึ่งด้วย รวมทั้งการปล่อยเงินกู้ให้ประเทศที่ขัดสนจนยากต่างๆ ซึ่งจีนยืนยันว่าเป็นการช่วยเหลือ ร่วมมือกันพัฒนาอย่างจริงใจ ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย โดยไม่มีเป้าหมายแอบแฝง
ที่หยิบยกเรื่องนี้มาพูด ก็เพราะเห็นข่าวนายกรัฐมนตรี อาคิลิซี โปฮิวา แห่ง “ราชอาณาจักรตองกา” หนึ่งในประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ออกโรงแถลงเมื่อ 16 ส.ค.ว่า กลุ่มประเทศหมู่เกาะ 8 ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้รวมทั้งตองกา ซึ่งล้วนเป็นหนี้จีนบานเบอะ กำลังหาทางรวมกลุ่มกันเพื่อ “ล็อบบี้” ให้จีนยกเลิกหนี้ให้พวกตน ขณะที่ตองกาต้องเริ่มชำระหนี้ให้จีนในเดือนหน้านี้ หลังกู้เงินจีนมหาศาลถึง 115 ล้านดอลลาร์ฯ มาฟื้นฟูบูรณะประเทศ หลังเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ในปี 2549 ทำให้กรุงนูกูอาโลฟาเมืองหลวงเสียหายหนัก
นายกฯ โปฮิวาพูดในทำนองว่า คงยากที่ตองกาจะสามารถชำระหนี้ให้จีนได้ จึงหวั่นกลัวว่าถ้าไม่จ่ายหนี้ จีนจะยึด “ทรัพย์สินทางยุทธศาสตร์” ของตองกา พร้อมทั้งยกกรณี “ศรีลังกา” เป็นตัวอย่าง
เดือน ก.ค. ปีที่แล้ว รัฐบาลศรีลังกาลงนามในข้อตกลงกับจีนมูลค่ากว่า 36,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงนี้ บริษัทจีนจะได้สิทธิเช่าและควบคุมพัฒนาท่าเรือน้ำลึก “ฮัมบันโตตา” ทางภาคใต้และพื้นที่ใกล้เคียงราว 6,000 ไร่ นานถึง 99 ปี ขณะที่ศรีลังกาเผชิญวิกฤติหนี้สินรุงรังจนชำระหนี้ให้จีนไม่ได้
...

ตั้งแต่สงครามกลางเมือง 26 ปีในศรีลังกายุติลงเมื่อปี 2552 จีนก็ให้เงินกู้มหาศาลเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของศรีลังกา ส่วนท่าเรือฮัมบันโตตาริมมหาสมุทรอินเดีย คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่ออภิมหาโครงการ “เบลต์ แอนด์ โรด” หรือ “เส้นทางสายไหมยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21” ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งโครงการท่าเรือน้ำลึกนี้ถูกจับตามองเขม็งจากคู่แข่งทางการค้าของจีนในภูมิภาค รวมทั้งอินเดียและญี่ปุ่น
ฝ่ายต่อต้านโครงการท่าเรือฮัมบันโตตายังกลัวว่าพื้นที่นี้จะกลายเป็นอาณานิคมของจีน และจีนอาจใช้ท่าเรือนี้เป็น “ฐานทัพ” แต่รัฐบาลศรีลังกาและจีนยืนยันว่าจีนจะใช้ท่าเรือในเชิงพาณิชย์เท่านั้น เพื่อขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปเป็นหลัก
เมื่อเดือน เม.ย.ปีนี้ สื่อฯ ยังรายงานว่าจีนต้องการสร้างฐานทัพใน “วานูอาตู” ประเทศหมู่เกาะเล็กๆอีกแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ หลังจีนให้ทุนพัฒนาท่าเรือซึ่งลึกพอที่เรือรบจะเข้าไปจอดเทียบได้ แต่ทั้งรัฐบาลจีนและวานูอาตูปฏิเสธว่าไม่จริง
จากการวิเคราะห์ของ “รอยเตอร์” ในช่วง 10 ปีหลัง ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้กู้หนี้จีนแล้วกว่า 1,300 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นแทบไม่เป็นหนี้จีนเลย เรื่องนี้ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะคู่แข่งของจีนกลัวว่าประเทศเหล่านี้จะตกเป็น “ลูกไล่” ถูกจีนครอบงำทั้งด้านเศรษฐกิจและการทูต เพราะแม้จะเป็นแค่ชาติเล็กๆ แต่บนเวทีโลก เช่น สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็มีสิทธิออกเสียง 1 เสียงเท่ากัน ชาติหมู่เกาะเหล่านี้ยังมีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ และมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ถ้าจีนควบคุมได้ก็น่ากลัวอย่างยิ่ง
ผู้นำ 8 ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้จะเปิดประชุมกันที่ “นาอูรู” ในเดือนหน้านี้ เพื่อร่วมวางแผนต่อรองให้จีนยกเลิกหนี้ให้ ส่วนจีนซึ่งมีสถานะ “หุ้นส่วนการเจรจา” และส่งนักการทูตเข้าร่วมประชุมด้วยตั้งแต่ปี 2550 จะตอบสนองอย่างไร น่าติดตามอย่างยิ่ง!
...
เท่าที่ผ่านมา จีนเคยยกเลิกหนี้ให้บางประเทศมาแล้ว เช่นในปี 2559 ยกเลิกหนี้ให้ “กัมพูชา” ราว 90 ล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงที่กัมพูชาพยายามวิ่งเต้นให้ “สหรัฐอเมริกา” ยกเลิกหนี้ที่สะสมมายาวนานให้ตนเช่นกัน

...
นอกจากยกเลิกหนี้ จีนยังปล่อยเงินกู้ใหม่ๆ และให้ความช่วยเหลือกัมพูชาในด้านต่างๆ อีกมากมาย ทำให้สมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยิ่งเป็นพันธมิตรแนบแน่นของจีนและช่วยปกป้องจีนอย่างแข็งขันในเวทีต่างๆ รวมทั้งกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนและหลายชาติในอาเซียนชิงกันอ้างกรรมสิทธิ์ ขณะที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาเลวร้ายลงถึงขีดสุด โดยฮุน เซน ถึงขั้นไล่ตะเพิดว่าไม่ต้องการให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือใดๆอีกต่อไป
ส่วน “ออสเตรเลีย” และ “นิวซีแลนด์” พันธมิตรของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแกนอำนาจหลักในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้มายาวนานก็หวาดระแวงการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน ถึงขั้นออกโรงเตือนเรื่องนี้บ่อยครั้ง และพยายามช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศหมู่เกาะเพื่อนบ้านเหล่านี้มากขึ้น เพื่อดึงกลับมาจากอ้อมอกจีน
เป็นการต่อสู้ช่วงชิงที่ดูเผินๆ เป็นไปอย่างเงียบๆ แต่ข้างในร้อนแรงอย่างยิ่ง!
บวร โทศรีแก้ว