การพูดถึง “กัมมันตรังสี” มักนำมาสู่การโต้เถียงเสมอ โดยเฉพาะประเด็นความมั่นใจด้านความปลอดภัย เนื่องจากเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องยากลำบากอย่างยิ่งที่จะชี้แจงให้สาธารณชนรับรู้ ตัวอย่างคือจังหวัด “ฟูกูชิมะ” ของญี่ปุ่น ที่เมื่อ 7 ปีก่อน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไดอิจิได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิ จนเกิดกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล ปนเปื้อนไปทุกแห่งหนไม่ว่าพื้นดิน ทะเล แม่น้ำ หรืออากาศ

ทั้งนี้ สิ่งที่ควรทราบก่อนอ่านต่อไปคือ “ค่าการแผ่รังสีในวัตถุหรือสสารใดๆ” (หน่วยเป็นเบ็กเคอเรล) เพราะของทั้งหลายทั้งปวงต่างแผ่กัมมันตรังสี แล้วแต่ว่าจะมากหรือน้อย ตัวอย่างน้ำประปาจะมีค่ารังสีเฉลี่ย 1 เบ็กเคอเรล (ต่อลิตร) ขณะที่ร่างกายมนุษย์ก็หลายสิบเบ็กเคอเรล

การนำตัวเลขเบ็กเคอเรลมาอธิบายนี้ น่าจะทำให้สิ่งที่มองไม่เห็นอย่างรังสี ดูเป็นรูปเป็นร่างได้บ้าง วัตถุใดมีค่าเบ็กเคอเรลสูงเท่ากับว่าปนเปื้อนมาก ค่าต่ำก็ปนเปื้อนน้อย ยกตัวอย่างทะเลรอบโรงไฟฟ้าตอนเกิดเหตุใหม่ๆ ค่าสูงถึง 10,000 เบ็กเคอเรล (ต่อลิตร) แต่พอแก้ไขซ่อมแซมการรั่วไหลก็เหลือไม่ถึง 0.7 เบ็กเคอเรล

ครับ 2,709 วันผ่านไปสำหรับ จ.ฟูกูชิมะ เจ้าหน้าที่รวมถึงอาสาสมัครทุกภาคส่วนยังทำงานกันอย่างหนักวันต่อวันเพื่อฟื้นฟูสภาพให้กลับมาดังเดิม เพราะสถานที่แห่งนี้แต่ก่อนถือว่าขึ้นชื่อในเรื่องสินค้าชั้นดีทางเกษตรและประมง ปลาตาเดียวของขึ้นชื่อราคาสูงถึงกิโลละ 8,000 เยน (2,400 บาท)

ครอบครัวชาวญี่ปุ่นพาลูกน้อยลงเล่นน้ำทะเลที่ชายหาดเมืองโซมะ จ.ฟูกูชิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 56 กิโลเมตร โดยหาดดังกล่าวทางการเพิ่งอนุญาตให้คนเข้าหลังปิดมา 7 ปี.
ครอบครัวชาวญี่ปุ่นพาลูกน้อยลงเล่นน้ำทะเลที่ชายหาดเมืองโซมะ จ.ฟูกูชิมะ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 56 กิโลเมตร โดยหาดดังกล่าวทางการเพิ่งอนุญาตให้คนเข้าหลังปิดมา 7 ปี.

...

แต่ปัจจุบันราคาตกเละเทะ เหลือกิโลละ 3,000 เยน (900 บาท) ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับคนท้องถิ่นอย่างมาก เพราะช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา “ไม่พบ” สารรังสีปนเปื้อนเกินมาตรฐานในสินค้าปลาทะเลอีกเลย ซึ่งมาตรฐานในที่นี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 100 เบ็กเคอเรล (ต่อกิโลกรัม) เข้มงวดมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานยุโรปและสหรัฐฯ กำหนดไว้ที่ 1,200 เบ็กเคอเรล

นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งใน-นอกประเทศ หน่วยตรวจสอบอาสาสมัครของฟูกูชิมะยังใส่กฎเหล็กยกระดับไปอีก โดยตั้งค่ามาตรฐานไว้ที่ 50 เบ็กเคอเรล (ต่อกิโลกรัม) หากเกินกำหนดจะร้องขอหน่วยงานท้องถิ่นให้งดส่งสินค้าลอตนั้นทันที หรือตั้งข้อจำกัดการส่งสินค้าโดยสำนักงานรับมือภัยพิบัตินิวเคลียร์

ดร.ยูกิโกะ ยามาดะ ที่ปรึกษา รมช.เกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น สำทับกรณีนี้ว่า “ค่ารังสีที่อยู่ในตัวสสารเป็นเรื่องยากที่จะวัด เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เปลี่ยนแปลง อย่างตรวจข้าวพบปีที่แล้วต่ำ แต่มาปีนี้กลับเพิ่มขึ้นเนื่องจากใช้อุปกรณ์ความละเอียดต่างกันก็มี ดังนั้น การตั้งเกณฑ์มาตรฐานจึงถือเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดว่ามันจะปลอดภัย ส่วนที่ถามว่าหากรับประทานปลาที่มีค่าปนเปื้อนสูงจริงๆเข้าไปจะส่งผลเช่นไร ก็ยังไม่มีงานวิจัยให้คำตอบเรื่องนี้ แต่ส่วนตัวในฐานะนักวิจัยเชื่อว่าตัวสองตัวคงไม่เป็นอะไร”

แน่นอนว่าทางการญี่ปุ่นยังมีมาตรการฟื้นฟูอีกมากมาย ทั้งเรื่องการบำบัดดินปนเปื้อน ด้วยการคัดแยกนำไปกักเก็บเพิ่มสารโปแตสเซียม ที่พบว่าจะทำให้สารกัมมันตรังสีอย่างซีเซียมเข้าไปในดินได้น้อยลง การนำดินในระดับความลึก 30 เซนติเมตรมากลบทับหน้าดินเก่าที่ปนเปื้อนน้อย ไปจนถึงการทำความสะอาดชำระล้างป่าเขา และการแบ่งหน้าที่ของแต่ละท้องที่สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทุกลอต

ข้อมูลรัฐบาลญี่ปุ่นเผย ตอนนี้มี 27 ประเทศที่ยกเลิกมาตรการควบคุมสินค้าอาหารญี่ปุ่น รวมประเทศไทย มาเลเซีย เมียนมา เวียดนาม ออสเตรเลีย แคนาดา อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็เกิดขึ้นอีหรอบเดิมจากเรื่องความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ทำให้การนำเข้าปลาตาเดียวจาก จ.ฟูกูชิมะมายังไทยในช่วงเดือน มี.ค. ถูกระงับไป ทั้งที่สองฝ่ายตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีกก็พบว่าไม่มีอะไรผิดปกติ

ดังนั้น จึงสรุปได้หรือไม่ว่า กรณีที่เกิดขึ้นมาจากความรู้สึกของคนล้วนๆ ซึ่งพอได้สอบถามเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นในกรุงโตเกียวและเทศบาลฟูกูชิมะว่าจะแก้ไขอย่างไร ต่างก็ดูอ่อนล้าและคิดไม่ตก บอกว่าเป็นเรื่องของความรู้สึกแต่ละคน เราไม่สามารถไปควบคุมได้เหมือนวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ทำให้ได้คือเก็บข้อมูลสถิติต่อไป ถึงคนเห็นสถิติบอกแล้วไง ก็ต้องทำให้ดีที่สุด เรื่องนี้ยังหาจุดจบไม่ได้แม้เวลาจะผ่านไป 7 ปีแล้ว แต่ขอเชื่ออยู่ในใจว่าตอนนี้เดินมาถึงครึ่งทาง

ผลิตภัณฑ์ “ลูกพีช” หนึ่งในของขึ้นชื่อจาก จ.ฟูกูชิมะ ถูกคัดแยกส่งตามตลาด ร้านค้า หลังสุ่มตรวจเรียบร้อยว่าไม่มีปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี.
ผลิตภัณฑ์ “ลูกพีช” หนึ่งในของขึ้นชื่อจาก จ.ฟูกูชิมะ ถูกคัดแยกส่งตามตลาด ร้านค้า หลังสุ่มตรวจเรียบร้อยว่าไม่มีปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี.

...

“ยอมรับว่าเห็นข้อมูลผิดๆที่เผยแพร่กันในอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ก็รู้สึกหงุดหงิด แต่ขอเรียนว่าในอินเตอร์เน็ตก็มีคนที่ไม่หลงตามข้อมูลผิดๆเหมือนกัน สำหรับคนไม่เชื่อเราก็เลือกที่จะปล่อยไปก่อน แล้วจับกลุ่มที่เชื่อดีกว่า พยายามเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้มากที่สุด และขอเชิญผู้บริโภคหาโอกาสมาสัมผัสด้วยตัวเอง จะได้รับรู้ว่าของเราอร่อยจริงๆ”

ความ “อดทน” คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เราจะไม่ยอมท้อถอยแน่นอน เพราะคนจังหวัดฟูกูชิมะขึ้นชื่อเรื่องความเอาจริงเอาจังอยู่แล้ว.

อ่านเพิ่มเติม


วีรพจน์ อินทรพันธ์