องค์การอนามัยโลกเผยว่าโรคเบาหวานจะเป็นสาเหตุอันดับที่ 7 ของการเสียชีวิตภายในปี 2573 ซึ่งพบว่าคนส่วนใหญ่มักเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถใช้งานหรือสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน และหากละเลยการรักษาโรคเบาหวานก็จะส่งผลความเสียหายต่อระบบประสาท ตาบอด มีปัญหาทางหัวใจ หรือต้องตัดอวัยวะอย่างแขนขาทิ้ง
เมื่อไม่นานนี้ นักวิจัยจากสถาบันศึกษาการทำงานและสุขภาพในเมืองโตรอนโต รัฐออนตาริโอ ประเทศแคนาดา เผยผลการวิจัยพบว่าความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานนั้นเกี่ยวข้องกับการใช้เวลาทำงานยาวนานในแต่ละสัปดาห์ นักวิจัยใช้เวลามากกว่า 12 ปีติดตามชีวิตคนทำงานในรัฐออนตาริโอจำนวน 7,065 ราย ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป พบว่าช่วงต้นของการติดตามผลระยะ 1-2 ปีแรก ยังไม่พบผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่เมื่อสิ้นสุดการวิจัยกลับพบว่ามีสตรีประมาณ 8% และผู้ชาย 12% เป็นโรคเบาหวาน
เมื่อวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของชั่วโมงทำงานและอัตราการเกิดขึ้นของโรคดังกล่าว ดูเหมือนว่าการใช้เวลาทำงานนานจะไม่ส่งผลต่อความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานในผู้ชาย แต่สตรีที่ทำงานอย่างน้อย 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีแนวโน้มถึง 63% ที่จะพัฒนาเป็นโรคเบาหวาน มากกว่าสตรีที่ทำงานสัปดาห์ละ 35-40 ชั่วโมง นักวิจัยอธิบายว่าพวกเธออาจใช้เวลาทำงานนานขึ้นรวมถึงรับผิดชอบภาระทำงานบ้านทั้งหมด ทำให้มีเวลาน้อยที่จะดูแลตนเอง เช่น กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพหรือออกกำลังกาย จนต้องเผชิญความเครียดเรื้อรัง เกิดการอักเสบและมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ที่นำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานนั่นเอง.