การบรรยายสรุปรอบสื่อมวลชนของเวทีประชุม GFN ที่เมืองหลวงประเทศโปแลนด์.
วันที่ 31 พ.ค. ทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) มีการรณรงค์เลิกสูบโดยตลอด แต่คนสูบก็ยังสูบ ไม่สนใจพิษภัยบุหรี่ที่ทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น มะเร็งปอด เป็นต้น (มีคำเตือนบนซองบุหรี่ชัดเจน)
บุหรี่เป็นอันตรายต่อคนสูบและคนสูบมือสอง (Second-hand smoker) หรือคนที่ไม่สูบ แต่อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสถานที่ที่มีคนสูบ เช่น สถานที่ทำงาน และควันบุหรี่ที่ติดตามเครื่องใช้หรือเสื้อผ้าก็มีอันตรายไม่แพ้กัน
ควันบุหรี่ที่เกิดจากการเผาไหม้และสารปรุงแต่งกลิ่นรส ก่อให้เกิดสารพิษและก๊าซพิษมากมาย เช่น ทาร์หรือน้ำมันดิน เป็นสารก่อมะเร็งและนิโคติน สารอันตรายออกฤทธิ์เสพติด
เมื่อรู้ว่าอันตรายแต่เลิกไม่ได้ คนกลุ่มหนึ่งจึงหาทางเลือก ทุเลาพิษภัยบุหรี่ (Tobacco Harm Reduction)
ช่วงวันที่ 14-16 มิ.ย. เครือข่ายผู้บริโภคนิโคตินนานาชาติ (INNCO) กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม รวม 31 แห่งจากทั่วโลก จัดประชุมเรื่อง “โกลบอล ฟอรัม ออน นิโคติน” (GFN) ครั้งที่ 5 ในวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์
ผู้เข้าร่วมและผู้พูดบนเวทีมีทั้งนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและแพทย์จากหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น ร่วมนำเสนอผลวิจัยสนับสนุนการบริโภค หรือการนำส่งนิโคตินทางเลือก
พระเอกของงาน คือ บุหรี่ไฟฟ้า (e-cigarettes) หรือระบบนำส่งนิโคตินไฟฟ้า (ENDS) บุหรี่แบบไม่เผาไหม้ (heat-not-burn tobacco) และบุหรี่ไร้ควัน “สนุส” (Snus) ถูกยกเป็นเครื่องมือช่วยคนเลิกสูบบุหรี่ได้ผลดีในหลายประเทศรวมญี่ปุ่นและสวีเดน
...
วงประชุม GFN ยังอธิบายว่าควันบุหรี่ คือสาเหตุเกิดโรคร้าย ไม่ใช่นิโคติน
“การเผาไหม้ในบุหรี่ก่อให้เกิดสารเคมีอันตราย ไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้าที่แค่ให้ความร้อนและการระเหยของเหลวในอุณหภูมิต่ำ และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่” ดร.โจ คอสเตริช จาก ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เวสเทิร์น ออสเตรเลีย (UWA) 1 ในองค์ปาฐกในเวที GFN กล่าว
มร.ฮิโรยะ คุมามารุ นายแพทย์และรอง ผอ.โรงพยาบาล อาโออิ ยูนิเวอร์ซัล ประเทศญี่ปุ่น เผยว่า หลังบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่แบบฮีต-นอท-เบิร์น เข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นและหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อเมื่อไม่กี่ปีก่อน พบว่าสถิติคนสูบบุหรี่ลดลง 20% ตลาดบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้อีกเรื่อยๆในญี่ปุ่น
แต่ที่ไม่ชัวร์ก็มี บทสรุปในเวที GFN (รอบสื่อมวลชน) ชัดเจนว่า อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้าต่อผู้ใช้จะมีน้อยกว่าบุหรี่ชัดเจนหรือไม่ อย่างไร ยังต้องศึกษาวิจัยกันต่อไป
ส่วนในบ้านเรา มีข่าวเน็ตไอดอลสาว ถูกจับฐานครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าเป็นข่าวครึกโครมช่วงปลายปีที่แล้ว เพราะยังไม่มีการรับรองคุณภาพและไม่อนุญาตขาย
จึงน่าจะเป็นหนึ่งในที่มาของแบบสำรวจเผยแพร่ในที่ประชุม GFN ยกให้ไทย เป็นประเทศเลวร้ายที่สุดของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า (Vaper) ตามด้วยออสเตรเลีย และอินเดีย ส่วนอังกฤษ เป็นประเทศดีที่สุดสำหรับคอบุหรี่ไฟฟ้า
ในส่วนของผู้เกี่ยวข้อง นพ.ขจรศักดิ์ แก้ว-จรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันพบแนวโน้มการแพร่หลายของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามีความปลอดภัยซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีประกาศเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ว่า “ไม่ใช่” อุปกรณ์หรือเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่ ยังไม่มีหน่วยงานควบคุมที่เป็นมาตรฐานยืนยันถึงความปลอดภัย หรือคุณประโยชน์ของบุหรี่ไฟฟ้า
เรื่องของ “บุหรี่ไฟฟ้า” ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน และได้รับความสนใจจากสาธารณชน
เนื่องจากกลยุทธ์ธุรกิจยาสูบที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดความสนใจ รวมถึงช่องทางการส่งเสริมการขาย การโฆษณา และการประชาสัมพันธ์
นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวต่อไปด้วยว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2561 สำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำ ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า มีเนื้อหาเป็นห่วงถึงอันตรายทั้งผู้สูบและผู้ใกล้ชิด โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์ เด็ก และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าส่วนมากมีสารนิโคติน เยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงสามารถเสพติดได้ง่าย และเป็นอันตรายต่อการพัฒนาสมองของวัยรุ่น ทำลายสมาธิและการเรียนรู้ นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ของหญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า และแนะนำให้มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ
ปัจจุบันพบว่าประเทศในอาเซียน นอกจากไทยแล้ว ยังมีสิงคโปร์ กัมพูชา และบรูไนฯ ที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเช่นกัน นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังมีส่วนประกอบของสารเคมีที่มีพิษและก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะมีโทษต่อผู้สูบแล้ว ละอองไอของบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดโทษและผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า
โดยเฉพาะสารนิโคติน ที่พบทั้งในน้ำยาเติมบุหรี่ไฟฟ้า และในละอองไอที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยสารนิโคตินที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการเสพติด เป็นสารก่อมะเร็งในปอดและทางเดินอาหาร ขัดขวางพัฒนาการของสมองในเด็ก และส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย
ส่วนข้อกังขาที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยคนเลิกสูบบุหรี่ แหล่งข่าวผู้เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าบอกว่าถ้าจะเลิกจริง ใช้วิธีอื่นก็เลิกได้ บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีผล ส่วนอีกคนบอกว่าเลิกสูบได้เพราะบุหรี่ไฟฟ้า และยังทำให้เหนื่อยช้าลงกว่าบุหรี่ และว่า คนที่บอกว่าเลิกสูบบุหรี่ได้ไม่จำเป็นต้องบำบัดหรือพึ่งบุหรี่ไฟฟ้า แสดงว่าคนคนนั้นไม่ได้ติดบุหรี่จริง
...
เป็นปัญหาที่คุยกันจบยาก ในฐานะสื่อ มวลชน ได้แต่เสนอข้อมูลให้รอบด้านมากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ และคงเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเราที่ยังไม่มีทางเลือกให้.....ไปอีกนาน.
เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์