คำพูดของผู้นำประเทศที่พูดออกไปไม่ได้คิด ไม่ได้ปรึกษาหารือเจ้าหน้าที่จากกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง ก็สร้างความอึดอัดคัดใจให้กับผู้ปฏิบัติได้เหมือนกันนะครับ ตัวอย่างที่เห็นชัดในขณะนี้ก็คือ ประโยคของทรัมป์ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่สิงคโปร์หลังจากพบกับคิม จอง อึน ผู้สื่อข่าวถามถึงการซ้อมรบกับเกาหลีใต้ ทรัมป์ตอบว่า สหรัฐฯซ้อมรบกับเกาหลีใต้ต่อเนื่องยาวนาน จากนั้น ก็เอ่ยเรื่องค่าใช้จ่ายในการซ้อมรบที่สูงมาก ทรัมป์พูดว่าแม้เกาหลีใต้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่ก็ไม่ทั้งหมด สหรัฐฯเคยหารือกับหลายประเทศเพื่อขอให้ปฏิบัติกับสหรัฐฯอย่างเป็นธรรม ทรัมป์บอกกับผู้สื่อข่าวต่ออีกว่า การซ้อมรบกับประเทศต่างๆ มีค่าใช้จ่ายสูงแต่สหรัฐฯก็จ่ายสำหรับการซ้อมรบ
ทรัมป์พูดต่อว่า “การซ้อมรบถูกมองจากเกาหลีเหนือว่าเป็นการยั่วยุ สหรัฐฯกำลังเจรจาข้อตกลงที่ซับซ้อนมาก ผมคิดว่า มันเป็นสิ่งไม่เหมาะสมที่จะมีการซ้อมรบต่อไป” ฟังจากที่ทรัมป์พูด เราก็รู้เลยครับว่าทรัมป์คิดแบบพ่อค้า พูดแต่เรื่องค่าใช้จ่าย ทว่าไม่ได้เอ่ยถึงภาระหน้าที่ที่สหรัฐฯต้องคุ้มครองทางการทหารแก่พันธมิตรของตนเอง
อดีตก็เคยมีนะครับ ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยกเลิกการซ้อมรบบนคาบสมุทรเกาหลี เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ พ.ศ.2535 ในยุคของประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช แต่คราวนั้น ประธานาธิบดีบุชผู้พ่อไม่ได้พูดถึงค่าใช้จ่าย ทว่าเลิกการซ้อมรบเพื่อโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือกลับมาเจรจา และเปิดทางให้ผู้ตรวจสอบนิวเคลียร์นานาชาติเข้าไปในเกาหลีเหนือได้ แต่ต่อมาก็จัดซ้อมรบใหม่ครับ แล้วก็ซ้อมรบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ประโยคที่ประธานาธิบดีของตัวเองพูด ทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติไม่รู้ว่าจะเอายังไงดี พวกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต้องแก้ข่าวกันพัลวัน บางคนให้สัมภาษณ์ว่า นึกว่าทรัมป์พูดผิด เพราะการพูดแบบนี้นี่เท่ากับว่าสหรัฐฯยอมรัฐบาลของเกาหลีเหนืออย่างมาก
...
ในอดีต สหรัฐฯ และโลกตะวันตก รวมทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ พยายามตะล่อมให้เกาหลีเหนือเจรจา และรับปากว่าจะทำลายและไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ การเจรจาในอดีตมีเอกสารประกอบเยอะแยะ แต่เกาหลีเหนือไม่เคยทำตามสักอย่าง ลักษณะเหมือนดื้อตาใส การพบปะกับทรัมป์ครั้งนี้ นอกจากลงนามในข้อตกลง 4 ข้อ ที่ว่านี้แล้ว ก็ไม่มีเอกสารอย่างอื่น เหมือนกับว่าการพบปะกันในครั้งนี้ทำเพียงเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น
เรื่องการทำลายนิวเคลียร์ ก็ไม่มีการกำหนดอย่างแท้แน่ชัดว่าคณะผู้ตรวจสอบอาวุธนิวเคลียร์จะเดินทางเข้าไปในเกาหลีเหนือเมื่อใด ตัวเลขที่แท้จริงของจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่มีการบอก ว่ามีจำนวนเท่าใดเช่นเดียวกัน
ครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายน 2561 มีการประชุมสำคัญที่กำหนดอนาคตของโลกถึง 3 การประชุม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำจี 7 การประชุมสุดยอดขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ และการพบปะกันของผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือในสิงคโปร์ซัมมิต การประชุมสุดยอดทั้ง 3 งานทำให้เรามองเห็นอนาคตของโลกได้อย่างชัดเจนขึ้น ที่จะอ่อนแอลงก็คือ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมของโลก 7 ประเทศ เพราะรัสเซียไม่กลับมาแน่ สหรัฐฯก็ไม่แยแสใส่ใจให้ความสำคัญ ขาดเอกภาพขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ตั้งกลุ่มมาเมื่อ พ.ศ.2518 กลุ่มนี้อ่อนแอมากที่สุดใน พ.ศ.2561
กลุ่มที่แข็งแรงขึ้นคือองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ รัสเซียและจีนเป็นพี่ใหญ่ที่แข็งแรงดุจภูเขาหิน ทำให้สมาชิกขององค์การเอาหลังพิงได้อย่างมั่นคงปลอดภัย ยิ่งได้ปากีสถาน และอินเดียมาร่วมองค์การ ก็ยิ่งแข็งแรงขึ้น อนาคต อิหร่านกระโจนเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันอีกประเทศหนึ่ง องค์การฯก็จะมีศักยภาพคล้ายกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต
สำหรับคาบสมุทรเกาหลี จะมีสันติภาพและความมั่งคั่งอย่างข้อตกลงข้อที่ 1 และ 2 จริงหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ความจริงใจของโดนัลด์ ทรัมป์ และคิม จอง อึน เป็นหลัก
การประชุมทั้ง 3 งาน ทำให้เรารู้ว่าโลกสนใจเรื่องปากท้องของประชาชนตนเองมากกว่าลัทธิอุดมการณ์
ผู้นำประเทศใดยังบ้าบอคอแตกเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง ไม่สนใจเศรษฐกิจ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่ตกโลกครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com