(เรียงจากซ้าย) รีสอร์ตลี่หยวน สถานที่จัดการประชุมใหญ่ // ทิวทัศน์นครหนานหนิง มุมมองจากสวนสาธารณะบนเขากลางเมือง // ท่าเรือเมืองชินโจว ทางออกสู่ทะเลจีนใต้ // ผลงานส่วนหนึ่งของศูนย์รวบรวมนวัตกรรมแทบทุกด้านของจีน.

...“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” -- One Belt and One Road–OBOR นโยบายรัฐบาลจีนมุ่งมั่นผลักดันการค้าระหว่างประเทศทะลุทะลวงทั่วโลก อย่าเพิ่งเบื่อหน่ายหรือเฉยเมยต่อการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ เพราะชาวโลกเกือบถ้วนทั่วต้องมีส่วนเกี่ยวดองกับ “เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21” อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

ช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา อีกครั้งที่รัฐบาลจีนจัดประชุมใหญ่นานาชาติ “กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 10” และ “การประชุมพัฒนาเส้นทางเศรษฐกิจจีน - อินโดจีน ครั้งที่ 2” (10th Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation Forum & the 2nd China-Indochina Peninsula Economic Corridor Development Forum) ที่นครหนานหนิง เมืองเอกเขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วง

รัฐบาลจีนเลือกพื้นที่เขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วงเป็นสถานที่จัดประชุมใหญ่เพราะพื้นที่นี้อยู่ทางภาคใต้ ติดชายแดนภาคเหนือเวียดนาม ติดทะเลจีนใต้ บริเวณ “อ่าวตังเกี๋ย” หรือจีนเรียก “อ่าวเป่ยปู้” (Beibu)

...

แก่นสารการประชุม “The Southern Transportation Corridor--A New Route of International Trade Across Land and Over Sea” หรือ “เส้นทางคมนาคมล่องใต้--การค้าระหว่างประเทศสายใหม่ทั้งทางบกและโพ้นทะเล”

เวทีประชุมเปิดฉากด้วยการประกาศจุดยืนของรัฐบาลจีน ต้องการผนึกความร่วมมือกับชาติภูมิภาคอาเซียนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น มุ่งเน้นร่วมวางยุทธศาสตร์ กำหนดเป้าหมายภารกิจและวางแนวทางความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนร่วมแก้ปัญหาและขจัดอุปสรรคเพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าบน “เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21”

ส่วนหนึ่งของความพร้อมก้าวย่างบนเส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 จีนเร่งเดินเครื่องเต็มสูบ ไล่ตั้งแต่พัฒนาสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับอย่างครบครัน ถนนหนทาง แหล่งที่พักอาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกพรั่งพร้อม

ด้วยเป้าหมาย “One gulf connecting Seven countries”--“หนึ่งอ่าวเชื่อมโยง 7 ประเทศ” อันหมายถึงการเดินทางคมนาคมขนส่งสินค้าและพาผู้คนเดินทางเชื่อมโยงระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ ประกอบด้วยพื้นที่เขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วง เมืองเอกคือนครหนานหนิง มณฑลกวางตุ้ง เมืองเอกคือนครกว่างโจว และมณฑลไหหลำหรือไห่หนาน เมืองเอกคือนครไหโข่ว กับภูมิภาคชาติอาเซียน ไล่ตั้งแต่บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนามและไทย

รัฐบาลจีนมุ่งให้ความสำคัญกับชาติภูมิภาคอาเซียนอย่างมาก โดยเฉพาะยุคที่สหรัฐฯภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มุ่งมั่นตามนโยบาย “อเมริกันต้องมาก่อน” ยิ่งเป็นโอกาสของจีนขยายบารมีสู่ภูมิภาคได้อย่างราบรื่นมากขึ้น

ส่วนหนึ่งของความพร้อมที่จีนตระเตรียมเอาไว้สำหรับอาเซียน คือ จัดตั้งศูนย์แบ่งปันข้อมูลข่าวสารอาเซียน จัดตั้งศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมอาเซียนควบรวมอยู่กับสวนสนุกขนาดใหญ่เอาไว้ดึงดูดทั้งผู้คนในท้องถิ่นและผู้คนจากชาติอาเซียนต้องหลั่งไหลไปเยี่ยมชมเนืองแน่นในอนาคตอันใกล้ ทั้งยังมีศูนย์จัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่เอาไว้รองรับการจัดงานได้ตลอดทั้งปี

...เมืองชินโจว (Qinzhou) ท่าเรือสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนมุ่งมั่นให้เป็นฐานการขนส่งสินค้าสำคัญเชื่อมกับท่าเรือสำคัญๆของชาติภูมิภาคอาเซียนอีกมากกว่า 47 แห่ง รวมถึงท่าเรือแหลมฉบังของไทย ท่าเรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชา และท่าเรืออีกหลายแห่งของเวียดนาม ไล่ลงไปถึงท่าเรือของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์

เมืองชินโจว ตั้งอยู่ทางใต้นครหนานหนิง กำลังถูกเร่งพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าจากโพ้นทะเลกระจายเข้าสู่พื้นที่อื่นๆของจีนแผ่นดินใหญ่และอีกด้านหนึ่งคือศูนย์กระจายสินค้าจากจีนออกไปสู่โลกภายนอกสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

...

ไม่เฉพาะการคมนาคมขนส่งสินค้าทางทะเลเท่านั้น พื้นที่เขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วง ยังมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศจีน ทั้งยังเชื่อมต่อไล่ลงมาถึงเวียดนามและ สปป.ลาว ซึ่งรัฐบาลจีนมุ่งหวังเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะผ่านลากยาวลงไปจน ถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ในอนาคตอันใกล้ เช่นเดียวกับเร่งพัฒนายกระดับการเดินทางคมนาคมขนส่งทางถนนไปสู่เมียนมาและกัมพูชา

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผูกพันอยู่กับ “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคอ่าวเป่ยปู้” ภายใต้นิยาม “วิน-วิน” สมประโยชน์ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม...

อานุภาพ เงินกระแชง