โยชิโกะ ฮายาชิ

กลุ่มนักข่าวผู้หญิง (ผู้สื่อข่าวหญิง) ในญี่ปุ่นรวมตัวกันประกาศต่อต้านการคุกคามทางเพศในวงการสื่อ ที่กรุงโตเกียวเมื่อไม่นานมานี้ หลังพบว่า มีผู้สื่อข่าวหญิงหลายคนจากทั่วประเทศถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งขบวนการ แฮชแท็กมีทู (#Metoo ฉันก็โดนด้วยเหมือนกัน) มีความเคลื่อนไหวช้ามาก ดังนั้น บรรดาผู้สื่อข่าวหญิงจึงต้องรวมตัวกันแสดงพลังให้เห็นถึงปัญหาที่พวกเธอได้รับซะเลย

ผู้สื่อข่าวหญิงราว 86 คน มารวมตัวกันและเรียกกลุ่มของตัวเองว่า ผู้หญิงในเครือข่ายสื่อมวลชนญี่ปุ่น หรือ ดับเบิลยูไอเอ็มเอ็น (WIMN) เพื่อเปิดโปงการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ

ทั้งนี้ นางโยชิโกะ ฮายาชิ ผู้สื่อข่าวอิสระ และอดีตผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ อาซาฮี ชิมบุน กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่า เป็นความโชคร้ายที่ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และการคุกคามทางเพศยังมีอยู่ในวงการ ผู้สื่อข่าวหญิงหลายคนมีความรู้สึกยากลำบากที่จะเปิดปากพูดเกี่ยวกับเรื่องถูกล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เนื่องจากอับอายและกลัวว่าจะไปทำลายความสัมพันธ์ที่มีกับแหล่งข่าว

นางฮายาชิยังกล่าวต่อไปว่า พวกเราเป็นประชาชนกลุ่มที่ไม่มีใครได้ยินเสียง การที่ผู้สื่อข่าวหญิงถูกลวนลามได้กลายเป็นประเด็นดังขึ้นมา เมื่อกระทรวงการคลังยอมรับว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงคุกคามทางเพศต่อผู้สื่อข่าวหญิง ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของนักข่าวหญิงที่โดนกระทำและถูกเก็บไว้เป็นความลับ

นางฮายาชิยังเปิดเผยด้วยว่า ผู้สื่อข่าวหญิงคนดังกล่าวอยู่ในสังกัดของสถานีโทรทัศน์อาซาฮี ซึ่งเธอกล้าเปิดเผยเรื่องไม่เหมาะสมนี้ จนทำให้พวกเราเกิดแรงบันดาลใจในการก่อตั้งกลุ่มผู้หญิงในเครือข่ายสื่อมวลชนญี่ปุ่นขึ้นมา ส่วนพฤติกรรมต่างๆที่ผู้สื่อข่าวหญิงโดนนั้น มีทั้งใช้ถ้อยคำเชิงชู้สาว, ถูกกอด, ถูกจูบ รวมทั้งการกระทำอื่นๆ ที่ส่อไปในทางกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ

...

ก่อนหน้านี้ นายฮิโรชิ ชิโนซูกะ หัวหน้าฝ่ายข่าวของสถานีโทรทัศน์อาซาฮี กล่าวว่า ผู้สื่อข่าว หญิงผู้นี้ เคยพยายามรายงานเรื่องนี้กับสถานีแต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้า เหตุนี้เธอจึงนำเรื่องนี้ไปบอกกับนิตยสารเล่มหนึ่งแทน

หลังจากนั้น นายจุนอิจิ ฟูกูดะ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง ยื่นใบลาออกหลังถูกพาดพิง แต่เขาปฏิเสธว่า ไม่เคยกล่าวคำที่ทำให้ผู้สื่อข่าวหญิงรู้สึกลำบากใจหรือถูกมองว่าเป็นการคุกคามทางเพศ.

ยูเรนัส