โลกยุคอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียครองโลก จนกลายเป็น “ปัจจัยที่ 5” ของมนุษย์ แม้จะทำให้การติดต่อสื่อสารรวดเร็วกว้างไกลไร้พรมแดน แต่ด้านลบของมันก็มีมาก รวมทั้งปัญหาเรื่อง “Fake News” หรือข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวเท็จ ซึ่งหลายๆกรณีเป็นพิษภัยอย่างมหันต์

ผู้เกี่ยวข้องทั่วโลกตื่นตัวพยายามหาทางแก้ปัญหา Fake News กันอย่างจริงจัง รวมทั้งวงการสื่อ รัฐบาล ไปจนถึงโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง “เฟซบุ๊ก” และ “ทวิตเตอร์” แต่ยังยากที่จะรับมือ

สัปดาห์ก่อน องค์กร “นักข่าวไร้พรมแดน” (อาร์เอสเอฟ) ในฝรั่งเศส ผนึกกำลังกับองค์กรผู้กระจายเสียงและโทรทัศน์ชั้นนำหลายแห่งของโลก รวมทั้งสำนักข่าวเอเอฟพี, สหภาพผู้กระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งยุโรป (อีบียู) และเครือข่ายบรรณาธิการโลก (จีอีเอ็น) ตั้งโครงการ “ความริเริ่มสื่อสารมวลชนที่น่าเชื่อถือ” (เจทีไอ) ขึ้น เพื่อต่อสู้กับ Fake News โดยมีเป้าหมายสร้าง “มาตรฐานความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส” ในวงการสื่อ

ระวังข่าวลวง–ผู้โดยสารรถไฟใต้ดินในกรุงกัวลาลัมเปอร์ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถืออยู่ใกล้ข้อความเตือนถึงเรื่องการเผยแพร่ข่าวลวง ก่อนที่รัฐสภามาเลเซียจะผ่านกฎหมายกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี ปรับ 5 แสนริงกิต (ราว 4 ล้านบาท) ต่อผู้เผยแพร่ข่าวลวง (เอพี)
ระวังข่าวลวง–ผู้โดยสารรถไฟใต้ดินในกรุงกัวลาลัมเปอร์ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์มือถืออยู่ใกล้ข้อความเตือนถึงเรื่องการเผยแพร่ข่าวลวง ก่อนที่รัฐสภามาเลเซียจะผ่านกฎหมายกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี ปรับ 5 แสนริงกิต (ราว 4 ล้านบาท) ต่อผู้เผยแพร่ข่าวลวง (เอพี)

...

สำนักข่าวใหญ่น้อยไปจนถึงบล็อกเกอร์ที่ได้ “มาตรฐาน” ความน่าเชื่อถือ โปร่งใส และจริยธรรม จะได้รับการ “การันตี” จากเจทีไอ และได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษจากเสิร์ชเอนจิ้น (โปรแกรมค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต) และโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งเมื่อมีความน่าเชื่อถือ น่าจะส่งผลดี ทำให้มีรายได้จากการโฆษณาเพิ่มขึ้นด้วย

รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปก็ตื่นตัวเรื่องการต่อสู้กับ Fake News เช่นกัน โดย “เบลเยียม” กำลังผลักดันกฎหมายต่อสู้ Fake News ทางออนไลน์ ทั่วยุโรป เพราะหวั่นวิตกเรื่องรัสเซียใช้สื่อออนไลน์รวมทั้งโซเชียลมีเดียแทรกแซงการเลือกตั้งทั่วยุโรป หลังรัสเซียถูกกล่าวหาแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559 ด้วยช่องทางนี้มาแล้ว

“เยอรมนี” ก็ออกกฎหมายที่จะให้ปรับโซเชียลมีเดียที่ไม่ลบ Fake News หรือโพสต์ที่สร้างความเกลียดชังออกโดยทันที เป็นเงินสูงสุดถึง 50 ล้านยูโร (ราว 1,920 ล้านบาท) ขณะที่ “ฝรั่งเศส” กำลังผลักดันกฎหมายหยุดยั้งข่าวลวงและโพสต์ที่สร้างความเกลียดชังก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึง

ส่วนใน “เอเชีย” หลายประเทศก็เคลื่อนไหวหรือออกมาตรการต่อสู้ Fake News เช่นกัน!

ที่ฮือฮาที่สุดก็คือ “มาเลเซีย” ซึ่งรัฐสภาเพิ่งผ่านกฎหมายกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี และปรับ 500,000 ริงกิต (ราว 4 ล้านบาท) ต่อผู้เผยแพร่ Fake News ทั้งในและนอกดินแดนมาเลเซีย รวมทั้งชาวต่างชาติ ถ้าประเทศหรือพลเมืองมาเลเซียได้รับผลกระทบ โดยกฎหมายครอบคลุมทั้งสำนักข่าว สื่อดิจิทัล และโซเชียลมีเดีย

แต่กฎหมายนี้ถูกโจมตีว่ามีวาระแอบแฝงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปใน 9 พ.ค.นี้ เพื่อหวังปิดปากฝ่ายค้านและผู้วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค และคนในรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาคอร์รัปชัน ยักยอกฟอกเงินกองทุนเพื่อการลงทุนแห่งชาติ “1 เอ็มดีบี” หลายพันล้านดอลลาร์ ซึ่งหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ กำลังสอบสวนแกะรอยเส้นทางการถ่ายโอนเงินนี้อยู่อย่างเข้มข้น

ส่วน “สิงคโปร์” คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเพิ่งปิดการอภิปรายนานที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 8 วัน เมื่อ 29 มี.ค. เพื่อพิจารณาหาทางออกกฎหมายป้องกันการเผยแพร่ข่าวลวงทางออนไลน์โดยเจตนา โดยคณะกรรมาธิการฯ มีกำหนดเสนอรายงานสรุปต่อสภาในเดือน พ.ค. เพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายนี้ต่อไป

ก.ม.คุมสื่อ?–ประธานสโมสรผู้สื่อข่าวอินเดียแถลงต่อหน้ากลุ่มนักข่าวในกรุงนิวเดลี เมื่อ 29 มี.ค. หลังกระทรวงข่าวสาร กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ มีแผนจะออกกฎหมายกวาดล้างข่าวลวง แต่ต้องยกเลิกไป หลังถูกโจมตีอย่างหนักว่าจะถูกรัฐบาลใช้เป็นอาวุธควบคุมเสรีภาพสื่อ (เอพี)
ก.ม.คุมสื่อ?–ประธานสโมสรผู้สื่อข่าวอินเดียแถลงต่อหน้ากลุ่มนักข่าวในกรุงนิวเดลี เมื่อ 29 มี.ค. หลังกระทรวงข่าวสาร กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ มีแผนจะออกกฎหมายกวาดล้างข่าวลวง แต่ต้องยกเลิกไป หลังถูกโจมตีอย่างหนักว่าจะถูกรัฐบาลใช้เป็นอาวุธควบคุมเสรีภาพสื่อ (เอพี)

...

ที่ “อินเดีย” กระทรวงข่าวสาร กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ก็ประกาศสัปดาห์ที่แล้วว่าจะออกกฎหมายควบคุม Fake News ด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตของนักข่าวที่เผยแพร่ข่าวลวงแบบชั่วคราวหรือถาวร โดยผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจะถูกห้ามเข้าสำนักงานรัฐบาล ห้องแถลงข่าว ห้องสัมมนาหรือหน่วยงานอื่นๆของรัฐบาล แต่ยังไม่ทันถึง 24 ชั่วโมง กระทรวงก็ต้องล้มเลิกแผนนี้กะทันหันตามคำสั่งของนายกฯ นเรนทรา โมดี หลังถูกโจมตีอย่างหนักว่าจะถูกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเสรีภาพสื่อก่อนการเลือกตั้งในปีหน้า

ขณะที่ “ฟิลิปปินส์” รัฐบาลประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต กำลังพิจารณากฎหมายให้ลงโทษปรับและจำคุกผู้เผยแพร่ Fake News สูงสุดถึง 20 ปี หลังท่านผู้นำประกาศอย่างฉุนเฉียวว่า “สูญเสียความเชื่อถือ” เว็บไซต์ข่าว “Rappler” จนห้ามสื่อสำนักนี้ทำข่าวการทำงานของตน โดยชี้ว่า Rappler เป็น “สำนักข่าวปลอม” หลังไปขุดคุ้ยเกาะติดข่าวการกวาดล้างยาเสพติดแบบใช้ศาลเตี้ยของดูเตร์เตและตำรวจ ซึ่งทำให้มีผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำหลายพันคน อีกทั้งยังคอย “จับผิด” คำพูดต่างๆของดูเตร์เตชนิดกัดไม่ปล่อย ทำให้ท่านผู้นำโกรธมาก

ส่วน “ไทยแลนด์” ของเรา แม้ยังไม่มีกฎหมายใหม่ต่อสู้ Fake News โดยเฉพาะเจาะจง แต่ก็มี “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” ผู้เผยแพร่ Fake News มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี

จะว่าไปแล้ว Fake News กลายเป็นวลียอดฮิต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ไม่กินเส้นกับสื่อที่คอยจับผิดโจมตีตนในด้านลบ ท่านจึงด่าสื่อเหล่านี้ว่าเป็น “Fake News”

ผู้นำอีกหลายประเทศที่กินเกาเหลากับสื่อ ก็เลยใช้เรื่อง Fake News เป็นข้ออ้างผลักดันกฎหมายควบคุมสิทธิเสรีภาพสื่อบ้าง จึงกลายเป็น “ด้านลบ” ของการต่อสู้กับ Fake News ที่ประชาชนพึงสังวรระวัง!

...

บวร โทศรีแก้ว