เรียกว่าเป็นข่าวสลดอีกครั้ง สำหรับอุบัติเหตุจาก “รถปิกอัพ” หรือภาษาบ้านๆ เรียก “รถกระบะ” ซึ่งคราวนี้รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต 13 คน โดยมีคนบาดเจ็บสาหัสอีกหลายราย เหตุเกิดที่ ซอยกิ่งแก้ว 21 มุ่งหน้าลาดกระบัง ม.12 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

หากใครยังจำได้ เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาตรการ “ไม่ให้นั่งท้ายกระบะ” ทำให้มีเสียงต่อต้านจากประชาชนอย่างล้นหลาม เพราะนี่คือ “วิถีชีวิต” ของคนไทยจำนวนมากที่จำเป็นต้องใช้รถเดินทางสัญจร

ปัญหานี้เรียกว่า “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” จะห้ามก็ไม่ได้ ปล่อยให้ใช้ก็สุ่มเสี่ยงต่อชีวิต..

ถอดบทเรียนใช้รถ “รถกระบะ” คือ รถบรรทุกขนาดเล็ก ขับเร็ว เสี่ยงตาย นั่งท้ายโอกาสรอดน้อย

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า บ้านเราเป็นประเทศที่นิยมใช้รถกระบะ ชาวบ้านจำเป็นต้องใช้รถประเภทนี้ในการดำรงชีพและการเดินทาง โดยคนไทยใช้รถกระบะ 2 ลักษณะ คือ 1. ใช้เพื่อบรรทุกสินค้า 2. ใช้เพื่อเดินทาง

...

“หากเป็นรถเปล่า รถกระบะจะมีจุดศูนย์ถ่วงที่ไม่ดีพอ หากวิ่งเร็วมากๆ จะมีโอกาสเสียหลัก หรือแหกโค้งได้ง่าย เพราะรถถูกออกแบบเพื่อ “บรรทุก” รถจะวิ่งได้ดีเมื่อมีน้ำหนักที่ท้าย กดลงไปสัก 500 กิโลกรัม จนถึง 1 ตัน ยิ่งถ้าผู้ใช้รถใช้ไม่เป็น ใช้ล้อรถที่มีลมยางไม่เหมาะสม ก็ยิ่งอันตราย เคยมี...คนขับรถบรรทุกของเยอะๆ แต่บางวันมีคนมานั่งท้ายกระบะ แกก็ลืมตัว เหยียบเข้าโค้งก็เกิดอุบัติเหตุ”

ผอ.สคอ. กล่าวต่อไปว่า เวลาเกิดอุบัติเหตุกับรถกระบะ ส่วนมากเกิดแล้วจะรุนแรงกว่ารถเก๋ง ด้วยความแรงของรถที่ปัจจุบัน ไม่มีการควบคุม เวลาการเดินทาง มีคนอยู่ในรถนับสิบคน ถามว่ารถมีความปลอดภัยไหม ก็ต้องตอบว่า เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เรียกว่า “แรง บึกบึน” แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือพวก “มือใหม่” ทั้งหลาย เราควรจะเรียนรู้การควบคุมรถให้ดี ประกอบกับถนนเมืองไทย แต่ละจุดก็มีความลาดเอียงไม่เสมอ

เกิดอุบัติเหตุกับรถกระบะ โอกาสเสียชีวิตแค่ไหน..

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า กระบะมีความเสี่ยงมากกว่ารถบุคคล เรียกว่า เราใช้รถผิดประเภททั้งประเทศ เพราะรถกระบะคือรถบรรทุกขนาดเล็ก แต่บางทีเราเอามาขนคน เวลาเกิดเหตุมันจึงมีลักษณะเทกระจาด ยิ่งนั่งด้านหลัง หรือในแค็บ มักไม่ค่อยรอด

“คนที่นั่งแค็บจะเจอปัญหา 2 อย่าง คือ ตัวคนนั่งจะไปกระแทกคนนั่งข้างหน้า ส่วนมากจะไปกระแทกที่บริเวณต้นคอ หรือไม่ก็กระเด็นออกไปนอกตัวรถเลย เพราะแขนขาจะหักหมด เพราะอยู่ในที่แคบ ดีไซน์ที่ถูกออกแบบมาก็ไม่มีเข็มขัดนิรภัย แต่ถ้าเป็น 2 ตอน ก็ถือว่าความปลอดภัยดีขึ้น เพราะมีเข็มขัดนิรภัย และที่นั่งที่ดีกว่า แต่ทั้งนี้ รถกระบะในบ้านเราใช้ผิดประเภทมานาน เรื่องนี้รัฐเป็นฝ่ายผิด คือรัฐปล่อยให้ภาคประชาชนใช้ ภาคอุตสาหกรรมก็ผลิตใช้กันมาอย่างยาวนาน จนมาวันนี้เรามองมันเป็นปัญหา แต่จะไปควบคุมก็ยาก เพราะรถในท้องถนนมีมาก จะมา “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” ไปสั่งห้ามนั่งท้ายกระบะ แบบนี้มันไม่ได้”

ในเรื่องเดียวกัน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เคยให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกัน โดยวิเคราะห์อุบัติเหตุรถกระบะพลิกคว่ำทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ศพว่า มิติตัวรถถือเป็นส่วนสําคัญของอุบัติเหตุครั้งนี้ คือ รถท่ีจุดศูนย์ถ่วงสูง (Center of Gravity) ซึ่งหากบรรทุกคน มา 10 คน เฉลี่ยน้ำหนักคนละ 60 กิโลกรัม จะมีความเสี่ยงในการพลิกควํ่ามากกว่ารถปกติ สูงกว่าปกติถึงกว่า 2.5 เท่า ซึ่งเป็นไปตามหลักฟิสิกส์พื้นฐาน

...

สำหรับผู้ที่ไม่มีอุปกรณ์นิรภัย (เข็มขัดนิรภัย) ซึ่งนั่งท้ายตัวรถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะมีลักษณะการเทกระจาด ผู้โดยสารท้ายกระบะจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่าผู้โดยสารภายในตัวรถที่คาดเข็มขัดนิรภัยถึง 8 เท่า 

แนวทางแก้ปัญหา "รถ คน ถนน" สิ่งที่ควรเน้น คือที่ "คนขับ" เวลาขนของกับขนคน ต้องระมัดระวังต่างกัน

เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ปัญหานั้น นายพรหมมินทร์ มองว่า อยากให้ภาครัฐเจาะไปที่คนขับรถให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนขับรถที่เป็นวัยรุ่น ต้องเข้าใจว่า รถที่ใช้คือรถบรรทุก ถ้าให้พูดกันตรงๆ คือ คนไทยจำนวนหนึ่งเวลาใช้รถความสำนึกถึงความปลอดภัยมันไม่มี เช่น บรรทุกของ ไม่มีที่ยึดเหนี่ยวก็ยังยอมที่จะนั่ง นั่งท้ายกระบะไม่พอ ยังนั่งที่ขอบอีก ขณะที่คนขับเอง รู้ว่ามีคนนั่งท้ายก็อย่าขับเร็วนะ แต่บางคนก็ขับไป 140-160 กม./ชั่วโมง แบบนี้เวลาหักหลบ เจอโค้งจะเอาอยู่ไหม

การแก้ปัญหา เรื่องนี้ ต้องเอาเรื่อง “รถ คน ถนน” เป็นตัวตั้ง

รถ : ควรมีการตรวจสอบให้ได้มาตรฐานตรงกับสเปกโรงงานมากที่สุด ไม่ควรให้ถูกดัดแปลงมากเกินไป

คน : ต้องให้ความรู้กับคนขับ ต้องสำนึกอยู่เสมอว่าเราขับรถบรรทุก ถึงแม้จะใช้ใบขับขี่เดียวกับรถเก๋งก็ตาม แต่จริงๆ แล้วทักษะในการขับแตกต่างกัน ครั้นจะให้ไปออกใบขับขี่แยกก็จะเป็นเรื่องยุ่งไปอีก จะโดนมองว่า “หยุมหยิม”

ถนน : ความเป็นจริงถนนก็มีส่วน มีบ้างที่ถนนชำรุด ไฟไม่มี ความลาดเอียงบางจุดยังไม่ได้มาตรฐาน

“สำหรับผมถนนสายหลักก็ถือว่าปลอดภัยแต่ไม่ถึงขั้นระดับสากล เรียกว่ายังถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ เพราะเรามองในแง่ความปลอดภัย เราไม่ได้มองแค่ขนาด หรือพื้นผิวเท่านั้น”

...

เปิดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน ในรอบ 10 ปี มีผู้เสียชีวิตเกือบแสนคน

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุตั้งแต่ปี 2551 - 2561 รวม 10 ปี พบว่า ทั่วประเทศมีการรับแจ้งอุบัติเหตุรวม 849,981 ราย มีผู้เสียชีวิต 91,187 ราย บาดเจ็บสาหัส 57,910 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 344,215 ราย ซึ่งจากเหตุการณ์ทั้งหมดพบว่ามีทรัพย์สินเสียหาย 12,218,387,758 บาท

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจคือ ยานพาหนะ 3 อันดับแรกที่ประสบอุบัติเหตุ คือ จักรยานยนต์ รถยนต์ และรถกระบะ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเป็นรถที่มีคนใช้มากที่สุด รองลงมาอันดับสอง คือ รถยนต์ส่วนบุคคล ตามมาด้วย “รถกระบะ” เป็นอันดับ 3

...

ในช่วงท้าย นายพรหมมินทร์ ได้อยากย้ำเตือนคนไทยทุกคนว่า อยากให้ทุกคนใส่ใจอย่างจริงจังกับปัญหาอุบัติเหตุ อย่าเอาความฝัน ความหวัง ไปทิ้งไว้ที่มาตรการของรัฐ เพราะมาตรการรัฐทำได้ไม่เต็มที่ มีข้อจำกัด ใครก็ตามที่อยากมีชีวิต หรือจำเป็นต้องใช้ชีวิตบนถนน คุณต้องมองให้รอบด้าน เพราะบนถนนคือที่เสี่ยงภัยรายวันอยู่แล้ว ถึงแม้คุณจะมีใบขับขี่ ขับรถได้อย่างดี แต่คุณก็อาจตายได้ถ้าไปเจอรถแหกโค้งมา เราต้องระมัดระวังตัวเองตลอดเวลา ร่างกายตัวเองต้องพร้อม ไม่ควรจะดื่มสุรายาเมา อดหลับอดนอน ไม่ควรไปเพิ่มความเสี่ยง ฝากดูแลตัวเองกันทุกคน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ข่าวที่น่าสนใจ