OpenAI และ Microsoft กำลังเจรจาครั้งใหญ่เพื่อ “เขียนสัญญาใหม่” ในความร่วมมือด้าน AI ที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งยุค โดยมีเป้าหมายเพื่อเปิดทางให้ OpenAI สามารถ IPO ได้ในอนาคต ขณะที่ Microsoft ต้องการการรับประกันการเข้าถึงเทคโนโลยี AI รุ่นใหม่ของ OpenAI ว่าจะมีต่อเนื่องแม้จะเลยปี 2030 ไปแล้ว
Microsoft ในฐานะผู้สนับสนุนรายใหญ่สุดของ OpenAI ที่ลงทุนไปแล้วกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 432,275 ล้านบาท) ยังไม่ตอบรับเต็มที่ต่อแผนการปรับโครงสร้างองค์กรของ OpenAI ที่จะเปลี่ยนตัวเองจากองค์กรไม่แสวงหากำไร ไปเป็นบริษัทที่สามารถ IPO ได้จริง
คำถามสำคัญสำหรับประเด็นนี้คือ “Microsoft จะได้รับหุ้นในสัดส่วนเท่าไร?” ภายใต้โครงสร้างใหม่ที่เปิดให้บริษัทแสวงหากำไรเข้าลงทุนได้ รวมถึงการขอแก้ไขสัญญาเดิมตั้งแต่ปี 2019 ที่ระบุไว้ว่า Microsoft มีสิทธิในการเข้าถึง IP (Intellectual Property) ของ OpenAI อย่างเช่น โมเดลและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนส่วนแบ่งรายได้จากยอดขายของ OpenAI ไปจนถึงปี 2030
จากรายงานของ Financial Times เปิดเผยว่า หาก OpenAI ทำการ IPO หรือปรับไปเป็นองค์กรแสวงผลกำไร ทาง Microsoft เสนอที่จะลดสัดส่วนหุ้นในกิจการใหม่ เพื่อแลกกับสิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยี AI รุ่นใหม่ ๆ โดยมีข้อแม้ว่าสิทธินี้จะต้องอยู่ยาวจนเลยสัญญาปี 2030 ไปแล้ว ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะกำหนดทิศทางอนาคตของ OpenAI ที่กำลังกลายเป็นหัวหอกด้าน Generative AI ของโลก
แม้จะยังร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด Microsoft ก็เริ่มรู้สึกถึง “ความตึงเครียด” เพราะ OpenAI เริ่มเจาะตลาดองค์กร (Enterprise) ด้วยผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และกำลังจับมือกับพันธมิตรใหม่อย่าง SoftBank และ Oracle เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน AI ขนาดยักษ์ในชื่อ Stargate เนื่องจากที่ผ่านมา ทาง Microsoft คือผู้สนับสนุนหลักที่ให้ OpenAI ใช้งานเซิร์ฟเวอร์เพื่อการพัฒนาโมเดล AI
แหล่งข่าวจาก Microsoft ให้สัมภาษณ์อย่างเผ็ดร้อนว่า “OpenAI เหมือนพูดกับ Microsoft ว่า ‘ให้เงิน ให้เซิร์ฟ แล้วอยู่เฉย ๆ’ ซึ่งมันไม่ใช่ท่าทีของพาร์ตเนอร์ที่ดี มันคือความเย่อหยิ่ง”
แต่ฝั่ง OpenAI ก็ยังมั่นใจว่าจะสามารถปิดดีลนี้ได้ในท้ายที่สุด
OpenAI ก่อตั้งขึ้นเมื่อสิบปีก่อนในปี 2015 ในฐานะบริษัทวิจัยด้าน AI ที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Non-Profit) ด้วยเป้าหมายยิ่งใหญ่ คือ การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ไปสู่ระดับ Artificial General Intelligence (AGI) ที่ปลอดภัยเพื่อมนุษยชาติ
แต่แล้วก็ตระหนักได้ว่า หากดำเนินงานในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอาจทำให้ OpenAI ไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะการไปสู่จุดนั้นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ทำให้เขาตั้งบริษัทใหม่ “OpenAI Global LP” ให้เป็นลูกผสมระหว่างบริษัทที่แสวงหาผลกำไรและไม่แสวงหาผลกำไร จึงเกิดเป็นแผนการของการที่จะปรับโครงสร้างบริษัททั้งหมดให้เป็นแสวงผลกำไร
แต่แล้วก็ต้องล้มเลิกความคิด หันมาดำเนินการบริหารตามแผนเดิมภายใต้การควบคุมขององค์กรไม่แสวงหากำไร หลังเผชิญแรงกดดันหนักจากหลายฝ่าย Bret Taylor ประธานคณะกรรมการบริหารของ OpenAI กล่าวว่า “เราตัดสินใจให้หน่วยไม่แสวงหากำไรยังคงควบคุม OpenAI หลังจากรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้นำ ภาคประชาสังคม”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: OpenAI ไม่เอาแล้วกำไร แช่แข็งแผนแปรสภาพบริษัท หลังเจอแรงต้านรอบด้าน
ก่อนหน้านี้ OpenAI สามารถระดมทุนไปได้แล้วหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดระดมไปได้กว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำโดย SoftBank เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา จนทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และในเงื่อนไขการลงทุนล่าสุด นักลงทุนจะได้รับหุ้นตามสัดส่วนทันทีที่ OpenAI เปลี่ยนโครงสร้างเป็น PBC (Public Benefit Corporation) หรือ บริษัทแสวงหากำไรที่มีพันธกิจเพื่อสาธารณประโยชน์ และหากไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างได้ นักลงทุนสามารถขอคืนเงินลงทุนบางส่วนหรือทั้งหมดได้ทันที
อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า หาก OpenAI ไม่สามารถเปลี่ยนสถานะเป็น PBC ได้จริง ก็จะเสี่ยงต่อการระดมทุนครั้งใหญ่ในอนาคต และทำให้สูญเสียโอกาสแข่งขันกับยักษ์ใหญ่อย่าง Google
Dorothy Lund ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจาก Columbia Law School กล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อคุณเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยพันธกิจเพื่อสาธารณะ แต่ต้องพึ่งพาเงินจากนักลงทุนรายใหญ่ คุณต้องเดินบนเส้นที่บางมาก — เพราะถ้าทำให้พวกเขาไม่พอใจ เงินก็จะหยุดไหลเข้ามาทันที”
ที่มา: Financial Times
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney