ทิม เบอร์เนอร์ส ลี ผู้สร้าง WWW.  ชี้อนาคตบิ๊กเทค “หมดยุคหากินกับข้อมูล”

Tech & Innovation

Tech Companies

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

    ทิม เบอร์เนอร์ส ลี ผู้สร้าง WWW. ชี้อนาคตบิ๊กเทค “หมดยุคหากินกับข้อมูล”

    Date Time: 13 มี.ค. 2567 19:11 น.

    Video

    Next Chapter บ้านปู “สินนท์ ว่องกุศลกิจ” ปักธงผู้นำแห่งยุคเปลี่ยนผ่านอุตฯ พลังงาน | On The Rise

    Summary

    • Tim Berners-Lee ผู้สร้าง www. เผยมุมมอง ‘AI และอนาคตเว็บไซต์’ ชะตาชีวิตแพลตฟอร์ม จุดจบยุคหากินกับข้อมูล คนจะมีผู้ช่วย AI ส่วนตัว และคนจะเป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเองอย่างแท้จริง

    Latest


    ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) ผู้ก่อตั้ง world wide web หรือ “ www.” พื้นที่ที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เราใช้กันทุกวันนี้ ได้คาดการณ์เกี่ยวกับ ‘อนาคตของเว็บไซต์’ มุมมองการมาของ AI ที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน และยุคที่อินเทอร์เน็ตถูกครอบงำโดยผลประโยชน์ส่วนของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ผ่านบทสัมภาษณ์ระหว่างเขากับสำนักข่าว CNBC ในวาระครบรอบ 35 ปี

    ก่อนหน้านี้เซอร์ ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี เผยมุมมองของเขาผ่านบล็อกส่วนตัว ที่ได้ฉายภาพการพังทลายลงอย่างช้าๆ ของเว็บไซต์ที่เขาสร้างขึ้น เพราะการถูกกัดกร่อนจากโมเดลธุรกิจบิ๊กเทคและอัลกอริทึมที่พวกเขาสร้างขึ้น 

    โดยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการสร้างเว็บ ลีกล่าวถึงตลาดข้อมูลส่วนบุคคลขนาดใหญ่ที่ใช้ประโยชน์จากเวลาที่ใช้บนอินเทอร์เน็ตและและข้อมูลของผู้คน เขากล่าวว่า ‘อัลกอริทึม AI’ เข้ามาลดทอนอำนาจในการผลิตเนื้อหาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย รวมถึงการสร้างเนื้อหาบนเว็บไซต์และบล็อกของผู้คนและธุรกิจ และทำให้เราสูญเสียความเป็นเจ้าของต่อข้อมูลของเรา 

    อย่างไรก็ตาม ลีได้กล่าวถึงมุมมองในแง่ดีที่มีต่อ AI พร้อมทั้งฉายภาพให้เห็นอนาตตหลังจากนี้ ภาพของเว็บไซต์จะเป็นแบบไหน และ ‘Future of Website’ ในอีก 35 ปีข้างหน้า จะเป็นอย่างไร 

    “ทุกคนจะมีผู้ช่วย AI ส่วนตัว” 

    ลี มองว่าสักวันหนึ่งเราจะมีผู้ช่วย AI ที่ไว้ใจได้คอยทำงานให้เราคล้ายกับแพทย์ ทนายความ หรือนายธนาคารประจำตัว โดยเขากล่าวว่า กิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ต้องเข้าใช้งานทางออนไลน์จะถูกจัดการโดย AI ในอนาคต ทุกอย่างจะผ่านศูนย์รวมผู้ช่วย AI ที่รวมกันเป็นแพลตฟอร์มเดียว คนไม่จำเป็นต้องเข้าแอปบัญชีธนาคาร หรือเว็บอีคอมเมิร์ซ หรือเข้าเว็บที่ให้บริการด้านสุขภาพอีกต่อไป 

    โดย AI จะเปลี่ยนวิธีที่เราโต้ตอบกับเว็บไซต์ เขายกตัวอย่าง ChatGPT จะทำให้คนจะมีส่วนร่วมกับแอปพลิเคชันแชต หรือแชตบอตดิจิทัลมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการรับข้อมูล และป้อนคำสั่งเพื่อขอความช่วยเหลือในการทำงาน เช่น การสร้างข้อความหรือเขียนโค้ด 

    นอกจากนี้ บริษัทอื่นๆ ก็เริ่มสร้างอุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI อื่นๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์แบบอื่นๆ เช่น Samsung ที่ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟน Galaxy S24 และ Humane AI Pin สตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ที่พัฒนาอุปกรณ์พินสำหรับสวมใส่  

    “เราจะเป็นเจ้าของข้อมูลของเราอย่างแท้จริงในทุกแพลตฟอร์ม” 

    ลี กล่าวว่า แทนที่ข้อมูลของเราจะตกไปอยู่กับผู้ให้บริการ Google, Meta, Amazon, Apple, Microsoft และยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอื่นๆ เราจะสามารถเป็นเจ้าของข้อมูลได้อย่างแท้จริง สามารถควบคุมข้อมูลของเราบนเว็บไซต์ได้อย่างเต็มที่ ผ่านการเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้ใน Data Store 

    โดยเขาได้แนะนำให้รู้จัก "พ็อด" Pod เทคโนโลยีที่เขากำลังพัฒนาร่วมกับสตาร์ทอัพ Inrupt ที่ตั้งใจเปลี่ยนแปลงการทำงานของเว็บแอปพลิเคชันในปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้เป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเอง และสามารถปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น  

    เขาอธิบายต่อถึงแนวคิดชุด "แอปที่เชื่อถือได้" ที่สามารถแชร์ข้อมูลระหว่างกันได้อย่าง Seamless ช่วยให้เข้าถึงแอปพลิเคชันที่จำเป็นทั้งหมดด้วยอุปกรณ์ต่างๆ โดยที่เราเป็นผู้ถือข้อมูลไว้กับตัวเอง 

    ปัจจุบันข้อมูลมหาศาลกระจัดกระจายอยู่ในแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งมีการรวบรวมและนำไปขายเชิงพาณิชย์ แต่ที่แย่ไปกว่านั้น คือ ข้อมูลถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดมากขึ้นในหลายๆ กรณี นอกจากนี้ เขาตั้งข้อสังเกตว่า ChatGPT ของ OpenAI และเครื่องมือ GenAI ยอดนิยมอื่นๆ ล้วนขับเคลื่อนโดยฐานข้อมูลที่มาจากเว็บแบบเปิดทั้งนั้น 

    “จุดจบของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่” 

    การคาดการณ์ของลีนำไปสู่จุดจบของบรรดา Big Tech ที่กุมอำนาจเทคโนโลยีในปัจจุบันจะถูกบังคับให้เลิกกิจการ ลี กล่าวว่า การจำกัดขอบเขตอำนาจทางเทคโนโลยีของยุโรปอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง 

    Digital Markets Act (DMA) พระราชบัญญัติการตลาดดิจิทัลของคณะกรรมาธิการยุโรปที่จำกัดการให้บริการในยุโรปเพื่อไม่ให้การเข้าของยักษ์ใหญ่กระทบบริษัทท้องถิ่น กล่าวคือ ยุโรปเอาจริงเรื่องการจำกัดการผูกขาดของแพลตฟอร์ม และพยายามสร้างภูมิทัศน์การแข่งขันทางเทคโนโลยีที่เป็นธรรม ซึ่งหากบริษัทใดละเมิดก็จะเจอกับค่าปรับสูงสุดถึง 10% ของรายได้ต่อปี หรือ 20% สำหรับผู้กระทำผิดซ้ำ 

    ลี กล่าวเชื่อมโยงไปถึง การผูกขาดในเทคโนโลยี AI ที่มากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

    เขากล่าวว่า ในบางกรณีที่รุนแรงคณะกรรมการต่อต้านการผูกขาด สามารถเรียกร้องไปสู่การหยุดกิจการได้  ในอนาคตหน่วยงานต่างๆ อาจจะต้องทำงานเป็นหน่วยเล็กที่แยกออกจากบริษัทใหญ่ อย่างไรก็ตาม เขากล่าวชื่นชมต่อบริษัทที่คำนึงถึงเรื่องดังกล่าวโดยที่ไม่ต้องรอให้หน่วยงานใดมากำกับ ลีกล่าวว่า “นั่นคือจิตวิญญาณของอินเทอร์เน็ตมาโดยตลอด” 

    อ้างอิง CNBC 

    ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney 


    Author

    กองบรรณาธิการ

    กองบรรณาธิการ