“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

Tech & Innovation

Digital Transformation

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่” จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

Date Time: 8 ก.ย. 2567 17:17 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • ไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นฮับผลิต EV ของอาเซียน ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในอนาคต อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าสู่เป้าหมายนี้ยังมีความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจของอุตสาหกรรม EV และการสร้างความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค
  • ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ให้แข็งแกร่งเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลก แต่ไทยยังต้องการการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา การสร้างมาตรฐานความปลอดภัย และการปรับโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสม

Latest


ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดในอุตสาหกรรม EV ที่เกิดขึ้นทั่วโลก การที่ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะขึ้นเป็นฮับผลิต EV ของอาเซียน ไม่ได้เป็นเพียงความฝัน แต่สิ่งนี้จะสร้างการเติบโตใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย และเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

ในงานประชุม ASEAN Battery Technology Conference 2024 (ABTC 2024) ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับอาเซียน จัดขึ้นที่สิงคโปร์เมื่อไม่นานมานี้ ภายในงานได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ ผู้นำอุตสาหกรรม และนักวิจัยด้านแบตเตอรี่จากทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่

Thairath Money เข้าร่วมงานเรียนรู้พัฒนาการและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ดังนั้นในบทความนี้จึงได้ถ่ายทอดมุมมองและบทสรุปจากการประชุมครั้งนี้ เพื่อตอบคำถามสำคัญว่าทำไมการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ถึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะพาไทยไปสู่การเป็นฮับ EV ในอาเซียน และอะไรที่ไทยต้องทำเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวไปข้างหน้าในเวทีโลก

เส้นทางอีกยาวไกลกว่าไทยจะถึงฝั่งฝัน “ฮับ EV” ภูมิภาค

ไทยกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายการลงทุนของอุตสาหกรรม EV ในอาเซียน ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศเรานั้นทำได้ดีพอสมควรในเรื่องของการกระตุ้นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ แต่ยังมีความท้าทายไม่น้อยว่าหลังจากนี้จะยืนระยะและสร้างความยั่งยืนอย่างไรให้กับอุตสาหกรรมนี้ เพราะถ้าหากไทยต้องการที่จะเป็นฮับ และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติมากกว่านี้ แค่เรื่องของตลาดอาจไม่เพียงพอ

ดร.พิมพ์พา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA)
ดร.พิมพ์พา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA)

ดร.พิมพ์พา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) ให้มุมมองกับ Thairath Money ว่า รัฐบาลได้เริ่มต้นด้วยการใช้กลยุทธ์ Demand Push เพื่อกระตุ้นตลาดยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างดี โดยการให้เงินสนับสนุน เพื่อทำให้ราคาของยานยนต์ไฟฟ้าสามารถแข่งขันกับรถยนต์สันดาปได้ ส่งผลให้ยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในตลาดผู้บริโภค แต่สำหรับการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจริงจังในภาคส่วนนี้ยังต้องมีการสนับสนุนในหลายด้าน

โดยหนึ่งในความท้าทายสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้บริโภคคนไทยให้ยอมรับและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่ซื้อครั้งเดียวแล้วหยุด ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน มาตรฐานในการจัดการแบตเตอรี่ที่หมดอายุ และอาจต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อสร้างความมั่นใจในตลาด รวมถึงการสนับสนุนตลาดมือสองให้มีการยอมรับอย่างกว้างขวางด้วย

ในช่วงแรก รัฐบาลสามารถดึงดูดผู้ซื้อด้วยการเสนอราคาที่แข่งขันได้และประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ แต่ความท้าทายต่อไปคือการสร้างความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของยานยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันในการสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นในตลาด ทั้งจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ

อีกประเด็นหนึ่งคือการกระตุ้นการลงทุนในประเทศที่มีการแข่งขันสูงระดับโลก รัฐบาลจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสนับสนุน เช่น การให้เงินสนับสนุนทางการเงิน การกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ หรือแม้แต่เงินกู้ที่อัตราดอกเบี้ย 0% การร่วมลงทุนจากรัฐและเอกชน รวมถึงการอนุญาตที่สะดวกและมีความชัดเจนในขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ การสร้าง One Stop Service ที่มี Timeline และ Service Level Agreement (SLA) ที่ชัดเจนในการตัดสินใจ จะช่วยให้การลงทุนเป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว การสนับสนุนต่อเนื่อง เช่น การลดภาษี การให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ที่จอดรถฟรี จะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและเพิ่มความมั่นใจในการใช้ EV มากขึ้น

อุตสาหกรรมแบตเตอรี่: ความท้าทายที่มากกว่าเรื่อง “เงินทุน”

แน่นอนว่าการเติบโตของอุตสาหกรรม EV นั้น “แบตเตอรี่” คือกุญแจสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ เพราะถือเป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและเติมเต็มซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ครบวงจรเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความมั่นคงในด้านการผลิตตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก ทำให้ประเทศสามารถดึงดูดการลงทุนและสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจากการผลิต EV และแบตเตอรี่ในระดับภูมิภาคได้เช่นกัน ดังนั้นโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในแง่ของการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพราะตลาดนี้ยังมีความท้าทายในเรื่องของความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคอยู่อีกมาก

ปัจจุบันเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในปัจจุบันคือ ลิเธียมไอออน ซึ่งมีความจุพลังงานสูงและมีความปลอดภัย ขณะที่โซลิดสเตตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นลิเธียมไอออนชนิดหนึ่งที่ใช้ตัวนำประจุเป็นของแข็ง กำลังได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความจุพลังงานต่อน้ำหนัก เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายในอนาคต

นอกจากนี้ ในระดับโลกยังมีการวิจัยและพัฒนาโซเดียมไอออนแบตเตอรี่ที่มีความปลอดภัยสูงกว่าแต่มีความจุพลังงานต่อน้ำหนักต่ำกว่า ซึ่งอาจเหมาะสมสำหรับการใช้งานในพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้ลิเธียมไอออนขนาดใหญ่ได้ เช่น ในตึกสูงหรือ Data Center ที่ตั้งบริเวณแหล่งชุมชน ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละประเทศ

แม้ว่าอุตสาหกรรมแบตเตอรี่จะมีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีความท้าทายอยู่อีกมาก โดยเฉพาะในประเด็นการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของทุกประเทศ แม้เราจะมีแผนการที่ชัดเจนแล้ว แต่ความคืบหน้าในบางด้าน เช่น การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในภาคการขนส่ง ยังดำเนินไปช้ากว่าที่คาดไว้

หนึ่งในความท้าทายหลักคือการสร้างความต้องการในตลาดที่ตอบสนองทั้งด้านการผลิตและการยอมรับจากผู้ใช้ ในภูมิภาคอาเซียน เรายังเห็นช่องว่างเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้ว ซึ่งการแก้ไขช่องว่างนี้จำเป็นต้องใช้เวลาและการพัฒนาหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จ การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย และการมอบประสบการณ์การใช้งานที่สะดวกสบาย เพื่อให้ผู้คนเชื่อมั่นว่าสินค้าเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวของเขาเองและคนรุ่นหลังได้

อีกแง่มุมที่สำคัญคือความแตกต่างในระดับภูมิภาค เช่น ในประเทศไทย ซึ่งมีสภาพอากาศและเงื่อนไขที่แตกต่างจากตลาดอื่น ๆ เช่น การมีอุณหภูมิสูงและฝนตกหนัก ซึ่งอาจไม่ตรงกับสเปคของแบตเตอรี่ที่ออกแบบมาสำหรับตลาดที่หนาวเย็น ดังนั้นการปรับแต่งแบตเตอรี่ให้เหมาะสมกับช่วงอุณหภูมิในท้องถิ่นก็เป็นสิ่งจำเป็น

อย่างไรก็ตาม หากมองภาพกว้าง เทคโนโลยีแบตเตอรี่ในภูมิภาคอาเซียนจะไม่ได้เป็นการแข่งขันระหว่างประเทศโดยตรง แต่เป็นการแข่งขันของประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีก่อนหน้า เช่น จีน ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในโลกในเวลานี้ สำหรับประเทศไทย การมีเทคโนโลยีเข้ามาผลิตในประเทศจึงต้องพิจารณาความได้เปรียบและเสียเปรียบทางการผลิตอย่างรอบคอบ

“การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เช่น การพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ จะใช้เวลานานประมาณ 7-10 ปี ทำให้เกิดคำถามว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะตามทันหรือไม่ แต่อย่างที่บอกว่า นี่ไม่ใช่การแข่งขันของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นความพยายามของประชาคมโลกที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการใช้งาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืน” ดร.พิมพ์พา กล่าว

ขีดจำกัดของ “สิทธิบัตร” อุปสรรคสำคัญสานฝันไทยสู่ “ฮับ EV”

ถ้าพิจารณาถึงศักยภาพด้านตลาด แน่นอนว่าประเทศไทยมีความพร้อมมากในแง่ของการสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐ แต่ในด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ประเทศไทยมีนวัตกรรมใหม่ของเราเองนั้นอาจเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะถ้ามองในแง่ของ “สิทธิบัตร”

รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้มุมมองเสริมว่า ในเรื่องสิทธิบัตรของประเทศไทยยังค่อนข้างล้าหลังเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เรามีจำนวนสิทธิบัตรไม่น้อยก็จริง แต่ส่วนใหญ่เป็นสิทธิบัตร Add-on ที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีอื่น ไม่ใช่สิทธิบัตรที่สามารถสร้างคุณค่าได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น เราจึงต้องพึ่งพาสิทธิบัตรจากต่างประเทศจำนวนมากเพื่อให้สามารถดำเนินการในอุตสาหกรรมได้

ข้อจำกัดของเราคือ การจดสิทธิบัตรในไทยยังใช้เวลานาน ขั้นตอนซับซ้อน และการเขียนสิทธิบัตรให้ครอบคลุมยังไม่สามารถสู้กับต่างประเทศได้ เนื่องจากนักกฎหมายเฉพาะทางในด้านสิทธิบัตรของเรายังมีจำนวนน้อย ทำให้ความครอบคลุมและการปกป้องสิทธิ์ยังไม่เพียงพอ

ถึงแม้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะพยายามเร่งการจดสิทธิบัตร แต่ยังคงมีความล่าช้าเพราะจำนวนคนที่มีความเชี่ยวชาญยังไม่เพียงพอและค่าใช้จ่ายในการจดสิทธิบัตรยังสูง อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนการจดสิทธิบัตรโดยภาครัฐหรือเอกชนยังคงมีความสำคัญ เพื่อให้เรามีศักยภาพในการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ เราต้องปรับปรุงหลายด้าน ทั้งในเรื่องคน กระบวนการ และการสนับสนุนจากภาคการเงิน ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและพัฒนา Ecosystem ในการสนับสนุนอุตสาหกรรม EV ให้ดียิ่งขึ้น

โดยสรุปแล้ว จากข้อมูลที่เกิดขึ้นจากงานประชุม ASEAN Battery Technology Conference 2024 และการพูดคุยกับนักวิจัยไทย เพื่อสะท้อนมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการผลักดันประเทศไทยก้าวสู่ “ฮับ EV” ระดับภูมิภาคได้ จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ที่จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจด้วย แต่ก็ยังคงมีความท้าทายหลายประการที่ต้องได้รับการแก้ไข ทั้งในด้านเทคโนโลยี การพัฒนาตลาด การสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค ตลอดจนการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ