Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR
InvestmentPersonal FinanceEconomicsBusiness & MarketingTech & InnovationSustainabilityExperts PoolVideosPR News
ยุค AI ไทยโตได้ด้วยอะไร? ถ้าเศรษฐกิจยังอยู่ที่เดิม คลื่นเทคโนโลยีจะแรงแค่ไหน แต่คนไทยก็ยังไม่รวย

Tech & Innovation

Digital Transformation

Content Partnership

Author

Content Partnership

Tag

ยุค AI ไทยโตได้ด้วยอะไร? ถ้าเศรษฐกิจยังอยู่ที่เดิม คลื่นเทคโนโลยีจะแรงแค่ไหน แต่คนไทยก็ยังไม่รวย

Date Time: 26 พ.ค. 2567 17:00 น.
Content Partnership

Summary

  • ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โลกได้เผชิญกับการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีมากมาย จากทิศทางของสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลขนาดใหญ่และเทคโนโลยีพื้นฐาน ความเป็นจริงกลับชี้ให้เห็นว่ามีเพียงบางประเทศหรือประชากรบางส่วนเท่านั้นที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมดิจิทัลได้อย่างแท้จริง สำหรับประเทศไทย หากเศรษฐกิจยังคงอยู่ในสถานะเดิม และไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีได้ คลื่นเทคโนโลยีที่แรงแค่ไหนก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้คนไทยส่วนใหญ่รวยขึ้นได้ ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพด้วย AI ต้องมาพร้อมกับการยกระดับทักษะดิจิทัลของคนในประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของ AI เพื่อให้ประเทศสามารถก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์และทั่วถึง

เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โลกคุ้นชินกับการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีหลากหลายครั้ง ทิศทางของสังคมจวบจนทิศทางของเศรษฐกิจที่ผันแปรตามชุดข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งถูกกำหนดด้วยค่าพื้นฐานทางเทคโนโลยี แต่ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น ความเป็นจริงกลับปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเพียงประเทศ หรือประชากรเพียงบางส่วนเท่านั้นที่สามารถปรับวิถีชีวิตให้ผสานเข้ากับสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลนี้ได้

โดยหลังจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในปี 2019 ผ่านพ้นไป บทบาทของเทคโนโลยีได้เข้ามามีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ที่เริ่มเด่นชัดขึ้น คำว่า ‘ดิจิทัล’ และ ‘เทคโนโลยี’ กลายเป็นสองคำหลักๆ ที่ถูกผนึกเข้าไปยังแผนยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การก้าวข้ามความเสี่ยงใหม่ๆ ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ความเจริญก้าวหน้าทางดิจิทัล กลายเป็นหมุดหมายใหม่ระดับมหภาคที่ผู้นำต้องการผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อให้ประเทศไม่ย่ำอยู่กับที่ ดังที่เห็นจากหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ต่างเพิ่มการลงทุนด้วยตัวเลขมหาศาลเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (Digital Infrastucture) อีกทั้งการกระตุ้นกิจกรรมของภาคธุรกิจให้เปลี่ยนผ่าน (Digital Transformation) อย่างเป็นวงกว้าง เพื่อเตรียมพร้อมประเทศให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล 5.0 ที่การใช้ชีวิตประจำของเราแบบดั้งเดิมถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีแล้วทั้งสิ้น

Generative AI คลื่นลูกใหม่ ปลดล็อกการเติบโตไร้ขีดจำกัด

หลังจากภาคธุรกิจเร่ิมทำ Digital Transformation ปรับใช้ ‘Big Data analytics - Cloud Service’ ในการจัดเก็บโอนถ่ายข้อมูลแบบอัตโนมัติ (Automation) โดยมีภาคส่วนที่โดดเด่นอย่าง ภาคการผลิต การค้าปลีก และภาคการเงินการธนาคาร อย่างไรก็ตามการไหลเวียนและเติบโตของปริมาณข้อมูลดิจิทัลอันมหาศาลในช่วงที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าไม่อาจตอบโจทย์บริบทที่หลากหลายได้อย่างเพียงพอ ทำให้ปัจจุบัน ‘เทคโนโลยี AI’ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้พัฒนานวัตกรรม ซึ่งถูกพูดถึงเป็นลำดับต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโมเดลสถิติ การพัฒนาอัลกอริทึม Deep Learning, Natural Language Processing และอื่นๆ อีกมากมาย

ศักยภาพ AI ในการเพิ่มระดับการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงคาดการณ์ (Predictive analytics) และการวิเคราะห์เชิงให้คําแนะนํา (Prescriptive analytics) นำไปสู่การนำเสนอโซลูชัน ผลิตภัณฑ์ แม้กระทั่งโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ซับซ้อนขึ้นได้ในปัจจุบัน แน่นอนว่า นั่นหมายถึง “การแก้ปัญหายากๆ การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรและผลผลิตที่สูงขึ้นในทุกอุตสาหกรรม”

หากจะกล่าวให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เทคโนโลยีในยุค 5.0 นี้ไม่ได้ปลดล็อกแค่เพียงการประมวลผลของเครื่องจักร แต่ยังรวมไปถึงขอบเขตความสามารถของมนุษย์ในการใช้เทคโนโลยีเสริมแกร่งการทำงาน ดังนั้นแล้ว AI อาจสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศและทำให้คนมีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่สูงขึ้น

AI เพิ่มผลิตผลประเทศ ความหวังใหม่ดึง GDP ไทย

PWC เผยแพร่ผลสำรวจผลกระทบจาก AI ต่อภาคธุรกิจในรายงาน “Global Artificial Intelligence Study: Exploiting the AI Revolution” ระบุว่า AI จะกระตุ้นการเติบโตของ GDP โลก 14% ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 15.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030

รายงานแสดงให้เห็นว่า 45% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งหมดภายในปี 2030 มีปัจจัยหลักจากการเพิ่มผลิตผลของแรงงาน (Labour Productivity) การปรับปรุงกระบวนการผลิตและผลลัพธ์ที่ได้ (Automating Processes) จะส่งผลโดยตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคให้เพิ่มขึ้น เนื่องจาก AI จะสร้างสินค้าและบริการที่หลากหลายและมีความเฉพาะเจาะจงสำหรับบุคคลมากขึ้น (Personalization)

นอกจากนี้ ข้อมูลจากงานวิจัย “Racing toward the future: Artificial intelligence in Southeast Asia” ซึ่งจัดทำโดย Kearney และ EDBI ได้เจาะลึกเพิ่มเติมสำหรับภูมิภาคอาเซียน

โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ศักยภาพของ AI จะช่วยกระตุ้นการเติบโต GDP ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ย 13% ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 9.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยงานวิจัยระบุว่า มากกว่า 80% ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มงบลงทุนหรือเริ่มต้นออกแบบกลยุทธ์ด้าน AI ไปพร้อมกับการดึงดูดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เห็นถึงความสำคัญของ AI ทั้งนี้ผลกระทบต่อ GDP อาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ความพร้อมของการนำไปใช้

ยกตัวอย่าง ‘ประเทศสิงคโปร์’ ที่มีการยกระดับอุตสาหกรรมและภาคบริการทางดิจิทัลให้เป็นภาคส่วนหลักที่ทำเงินให้กับเศรษฐกิจมาก่อนหน้านี้ ทำให้สิงคโปร์เป็นผู้นำของภูมิภาคที่มีการนำ AI มาใช้อย่างเต็มระบบ และอยู่ในขั้นที่กำลังต่อยอดกลยุทธ์ด้าน AI ข้ามอุตสาหกรรม

จากค่าประมาณการดังกล่าวหากเรามาเจาะที่ประเทศไทย ภายในหกปี AI จะช่วยกระตุ้นการเติบโต GDP ถึง 13% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4 ล้านล้านบาท คำถามต่อไปก็คือภายในหกปีนี้ เราจะนำ AI มายกระดับการเติบโตเศรษฐกิจได้อย่างตรงจุดตามคำคาดการณ์หรือไม่? เมื่อล่าสุดรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ระบุตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของปี 2024 ที่ขยายตัวเพียง 1.5% พร้อมคาดว่าทั้งปีจะเพิ่มขึ้นไม่ถึง 3% ด้วยซ้ำ

งานวิจัยยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสจาก AI ซึ่งมีจุดร่วมสำคัญกับอุตสาหกรรมหลักๆ ที่สร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่าง ภาคการเกษตร ภาคการผลิต ภาคการท่องเที่ยวและการให้บริการ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อน GDP หลักๆ ของประเทศไทยมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

โดยงานวิจัยระบุว่า เราสามารถปลดล็อกโอกาสของอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่ขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคบ้านเราได้ด้วย AI กล่าวคือ เราสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่โดดเด่นของเรานี้ พร้อมค้นคว้าและเติมเต็มโอกาสที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ได้ในขณะเดียวกัน

แม้อุตสาหกรรมเดิมจะยังมีศักยภาพขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ แต่ทว่ากลไกขับเคลื่อนหลักอย่างภาคธุรกิจและคนทั่วไปกลับเผชิญหน้ากับความเสี่ยงใหม่ๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจและช่องว่างทางการผลิตที่แย่ลงจากผลิตผลของแรงงานที่ลดลงสืบเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของประชากรเกิดใหม่ ซึ่งบ่งบอกว่าประเทศไม่อาจพึ่งพาเคลื่อนย้ายของแรงงาน แม้กระทั่งทักษะสำคัญในอดีตได้เหมือนเดิม

ตัวอย่าง 5 อุตสาหกรรมโดดเด่นที่จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของ AI

1. ภาคการผลิต (Manufacturing) ตัวอย่างเช่น ระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI ช่วยเพิ่มผลผลิตในอุตสาหกรรม สามารถลดงานที่ใช้แรงงานคนในแต่ละวัน ทำให้พนักงานมีเวลาว่างในการทำงานที่สร้าง มูลค่าทางธุรกิจที่สูงกว่า เช่น การสร้างสรรค์นวัตกรรมและการค้นคว้าข้อมูล

2. ภาคการท่องเที่ยว การค้าปลีกและให้บริการ (Retail & Hospitality) ตัวอย่างเช่น ระบบการขาย การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรม ลดความผิดพลาดในการจัดการสต๊อกสินค้า รวมถึงการทำตลาดแบบเฉพาะบุคคลที่สามารถสร้างประสบการณ์เชิงบวกให้กับลูกค้าผ่านโปรโมชันและคำแนะนำที่ตรงเป้าหมายมากขึ้น

3. ภาคการเกษตร (Agriculture) การประมวลข้อมูลในภาคเกษตรช่วยสร้างมาตรฐานการทำเกษตรแบบแม่นยำ ที่สามารถคาดการณ์และควบคุมปัจจัยในการเพาะปลูก เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ

4. ภาครัฐ และการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Government, Safety/Security and Smart cities) AI กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับความปลอดภัยภายในเมืองและชุมชน รวมถึงการสร้างระบบที่เอื้ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการและข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ

5. ภาคสาธารณสุข (Healthcare) ซอฟต์แวร์ AI เข้ามาปรับปรุงและเสริมการทำงานขั้นพื้นฐานของบุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนการวินิจฉัยโรคที่ซับซ้อน

“ทั้งนี้ AI และ กองทัพ Digital Technology จึงถูกยกให้เป็นกุญแจสำคัญที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิทัลในระยะยาวต่อจากนี้”

อย่างไรก็ตามการเร่งการนำ AI มาใช้ ต้องอาศัยปัจจัยที่เหมาะสม ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย รวมถึงแรงขับเคลื่อนสำคัญอีกประการ นั่นก็คือ การยกระดับทักษะดิจิทัลและ AI ของคนในประเทศไทย

นอกจากนี้สิ่งสำคัญในการสร้าง ‘ระบบนิเวศ AI’ โดยเฉพาะการวางโครงสร้างการกำกับดูแลที่จำเป็น คือ การดำเนินการร่วมกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รัฐบาล ธุรกิจ ผู้ให้บริการเทคโนโลยี นักลงทุน และสถาบันการศึกษา เพื่อออกแบบกลยุทธ์ AI ระดับชาติร่วมกัน หน่วยงานกำกับดูแลจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนาและความต้องการของผู้บริโภคเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

ตลอดจนการกำกับดูแลด้านกฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อผู้ใช้และผู้ให้บริการ เพื่อการเข้าถึงประโยชน์จาก AI อย่างเท่าเทียมเป็นธรรมและไม่ขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายใหม่ของทุกคนที่ต้องให้ความสนใจ หากต้องการนำพาประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์

ดังนั้นในยุค AI กำลังก้าวขึ้นมาเป็น Mega Trend ของโลก ที่พร้อมเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เตรียมพบเสวนาพิเศษในหัวข้อ "Unlocking Thailand With Green Finance & AI Economy" ซึ่งจัดขึ้นในงานครบรอบ 1 ปี Thairath Money วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 นี้


Author

Content Partnership

Content Partnership