เมื่อเร็วๆ คอลัมน์ Sustainable together ได้มีโอกาสร่วมคณะเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อดูความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มี นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ความยั่งยืนองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำคณะ โดยนายรัฐกรระบุว่า ปตท.มีหน้าที่ผลักดันกิจการของปตท.ให้เติบโตและต้องดูแลธุรกิจที่ต้องอยู่กับพลังงานฟอสซิลในปริมาณมาก ที่ยังมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ปตท.จึงได้กำหนดกลยุทธ์ประกอบด้วย 1.ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ Climate–Reilience Business โดยการปรับลดปริมาณการใช้ฟอสซิลในเวลาที่เหมาะสมและบริหารจัดการด้านต้นทุน พร้อมเพิ่มปริมาณพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ผ่านกลุ่มบริษัทต่างๆของ ปตท.
2.ธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องคาร์บอน Carbon Conscious Business ผ่านบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมถึงผนึกพันธมิตรธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยี ในการลดคาร์บอน เพิ่มประสิทธิภาพสินค้าให้เป็น Green Energy
3.การร่วมมือการสร้างสรรค์เพื่อทุกคน Coalition, Co-creation & collective Efforts for All ถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่จะทำให้กลุ่ม ปตท.ไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงการการดักจับ การจัดเก็บคาร์บอน (CCS) และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมในกลุ่มอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) สัดส่วน 5% รวมถึงการปลูกป่า เป็นต้น โดยทั้ง 2 โครงการ ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายในการดำเนินการ
“โครงการ CCS ปตท.จะดำเนินการแบบครบวงจร ตั้งแต่ค้นหาเทคโนโลยี การจะกักเก็บคาร์บอน กลุ่ม ปตท. มีการปล่อยคาร์บอน 50 ล้านตันต่อปี จึงต้องหาเทคโนโลยีในการเก็บคาร์บอน มองว่าจะสามารถกักเก็บ 10 ล้านตันต่อปี ส่วนจะเริ่มดำเนินการในเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบจะเกิดขึ้นหลังปี 2035”
ปตท.มีความสนใจที่จะร่วมมือกับบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรีส์ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาการใช้ไฮโดรเจนทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน และกำลังมองหาโอกาส ในการทำงานร่วมกับ บริษัท ซันโย เคมิคอล อินดัสตรีส์ ประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนาวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ความร่วมมือกับมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรีส์ ที่มีศูนย์ทดลองเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับไฮโดรเจนครบวงจรแห่งแรกของโลกที่จังหวัด Hyogo สอดคล้องกับเป้าหมายของ ปตท.ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจในกลุ่ม ปตท.”
ปัจจุบันมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรีส์ ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีการผสมเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติกับไฮโดรเจน ในสัดส่วน 30% สำหรับผลิตไฟฟ้า และกำลังศึกษา เพื่อเพิ่มสัดส่วนไฮโดรเจนเป็น 100% ในอนาคต
ปตท.ยังมีต้นแบบของ บริษัท ซันโย เคมีคอล อินดัสตรีส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตเคมีภัณฑ์มาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมาเคยเผชิญกับภาวะผลผลิต ในตลาดโลกล้นตลาด จึงได้วิจัยพัฒนาเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added) ออกสู่ตลาด โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่ย่อยสลายได้หรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นมองว่า ปตท.จะมีความร่วมมือกันใน 2-3 ผลิตภัณฑ์
เขาย้ำทิ้งท้ายว่า การปรับกลยุทธ์ของ ปตท. เพื่อมุ่งสู่ Net Zero เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานไทย สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม