ภาพของนักธุรกิจคนดัง เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ระดับโลก นอกจากแบรนด์ดังจากสหรัฐอเมริกาแล้ว อีกหนึ่งเจ้าที่ประสบความสำเร็จก็คงหนีไม่พ้น “Alibaba” ที่เติบโตมาด้วยการบริหารของเจ้าพ่อวงการเทคโนโลยีอย่าง “Jack Ma”
ต้องบอกว่า Alibaba ไม่ได้เป็นความฝันหลักของ Jack Ma แต่เพราะเห็นโอกาสแล้วคว้าสิ่งนั้นไว้ จึงทำให้ Alibaba ประสบความสำเร็จไประดับโลก ได้ลิสต์เข้าตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนขยายธุรกิจไปสู่บริการทางเทคโนโลยีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบชำระเงินและธุรกิจคลาวด์ จนสามารถสร้างระบบนิเวศให้กับธุรกิจของตัวเองได้อย่างครบครัน
ในอดีต Jack Ma เคยขึ้นแท่นเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในจีน ก่อนจะลงจากตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบัน Jack Ma ก็มีสินทรัพย์มูลค่ากว่า 28,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครองอันดับที่ 8 ในจีน และอันดับที่ 71 ของมหาเศรษฐีโลก
และในบทความนี้ Thairath Money คอลัมน์ How to Make Money จะพาไปทำความรู้จัก Jack Ma ชายที่เติบโตมากับความชอบในภาษาอังกฤษ และเปลี่ยนเส้นทางไปเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการอีคอมเมิร์ซโลก
จุดเริ่มต้นของเด็กชาย “Ma Yun” เกิดเมื่อปี 1964 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน ในครอบครัวธรรมดา พ่อแม่มีอาชีพเป็นนักแสดงศิลปะพื้นบ้านจีนที่เรียกว่า “Pingtan” แม้ไม่ได้ร่ำรวย แต่ Jack Ma ก็ยังโชคดีที่ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และความใฝ่รู้
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากคนอื่นตั้งแต่วัยเด็ก คือ ความหลงใหลในภาษาอังกฤษ และเป็นโอกาสที่ดีเพราะในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ประเทศจีนเพิ่งเริ่มเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามาท่องเที่ยวในจีน จึงทำให้ Jack Ma ได้ใช้ทักษะในการฝึกภาษา
ทุกเช้าตลอดระยะเวลากว่า 9 ปี Jack Ma จะปั่นจักรยานจากบ้านเพื่อไปยังโรงแรมที่อยู่ใกล้ ๆ พร้อมกับไปเสนอตัวเป็นไกด์นำเที่ยวโดยไม่คิดเงินแม้แต่หยวนเดียว เพียงเพื่อต้องการให้ได้ฝึกภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษาโดยตรง จนทำให้เขาได้รับชื่อ “Jack” มาจากหนึ่งในนักท่องเที่ยว และเขาก็ใช้ชื่อนี้มาโดยตลอด
หนึ่งในจุดอ่อนของ Jack Ma คือ วิชาคณิตศาสตร์ ที่ทำให้เขาไม่ผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นการแข่งขันสุดดุเดือดในจีนถึง 2 ครั้ง แต่ด้วยความพยายาม ท้ายที่สุดเขาก็สอบติด Hangzhou Normal University ในคณะภาษาอังกฤษในครั้งที่ 3
และหลังจากเรียนจบ Jack Ma ก็ได้เข้าทำงานเป็น “คุณครูสอนภาษาอังกฤษ” ในมหาวิทยาลัย ด้วยเงินเดือนราว 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 400-500 บาท) ซึ่งในเวลานั้น Jack Ma ยังไม่รู้เลยซ้ำว่า เส้นทางชีวิตของเขากำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล
ก่อนที่ Jack Ma จะกลายเป็นเจ้าพ่อเทคโนโลยี เขาเคยลองทำธุรกิจมาหลายรูปแบบ และประสบความล้มเหลวไม่ใช่น้อย หนึ่งในนั้นคือการเริ่มต้นบริษัทแปลภาษาและล่ามแปลเอกสารชื่อ “Hope Translation Agency” ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เพื่อช่วยให้บริษัทจีนติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติ
และแม้จะเป็นธุรกิจเล็ก ๆ แต่ก็ทำให้ Jack Ma ได้เรียนรู้เรื่องการบริหารธุรกิจ การสร้างเครือข่าย และความต้องการของ SME จีนที่อยากขยายตลาดไปต่างประเทศ ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานแนวคิดในการสร้าง Alibaba ในเวลาต่อมา
และจุดเปลี่ยนสำคัญคือช่วงปี 1995 ขณะเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในฐานะล่ามของคณะธุรกิจ Jack Ma ก็ได้ทดลองใช้สิ่งที่เรียกว่า “อินเทอร์เน็ต” เป็นครั้งแรก เพราะเขาได้ลองใช้คอมพิวเตอร์ค้นหาคำว่า “beer” และพบว่ามีข้อมูลมากมาย แต่เมื่อค้นหาคำว่า “China” กลับไม่มีข้อมูลในนั้นเลย และนั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขามองเห็นช่องว่างมหาศาลในโลกดิจิทัล
เมื่อเดินทางกลับถึงจีน Jack Ma จึงตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจอินเทอร์เน็ตทันที โดยร่วมมือกับเพื่อนทำเว็บไซต์ชื่อ “China Pages” เพื่อให้ธุรกิจจีนสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ เป็นเว็บไซต์ที่พัฒนาในยุคที่ชาวจีนแทบจะไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต โดย Jack Ma วางแนวคิดให้เป็น “สมุดหน้าเหลืองออนไลน์ของบริษัทจีน” ที่รวบรวมข้อมูลบริษัทและผลิตภัณฑ์ของจีนไว้ในที่เดียว เพื่อให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศสามารถค้นหาและติดต่อกับซัพพลายเออร์จีนได้ง่ายขึ้น
ในช่วงแรก China Pages สร้างความสนใจได้ไม่น้อย แต่ท้ายที่สุดโครงการก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตในจีนยังไม่พร้อม ผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐบาลยังไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีออนไลน์ ตลอดจนมีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์กับพันธมิตรธุรกิจภายในโครงการเอง
อย่างไรก็ตาม Jack Ma มองว่าความล้มเหลวของ China Pages คือประสบการณ์ที่มีค่าที่สุด เพราะเขาได้เรียนรู้ว่าธุรกิจบนโลกออนไลน์ต้องไม่ใช่แค่การเป็นเว็บไซต์สวย ๆ แต่ต้องสร้างระบบที่เชื่อมโยงระหว่างธุรกิจท้องถิ่นกับตลาดโลกได้จริง และก็กลายมาเป็นพื้นฐานแนวคิดในการสร้าง Alibaba ในเวลาต่อมา
หลังจากความล้มเหลวของธุรกิจ China Page ก็นำมาสู่ต้นกำเนิดของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเปลี่ยนโลก โดยในปี 1999 ที่ Jack Ma ได้ร่วมกับเพื่อนและอดีตลูกศิษย์รวม 17 คนมานั่งประชุมกันในอพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ ที่หางโจว เพื่อวางแผนสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับเชื่อมผู้ขายในจีนกับผู้ซื้อทั่วโลก ซึ่งต่อมากลายเป็น "Alibaba.com"
และที่มาของชื่อ “Alibaba” มาจากนิทาน “Ali Baba and the Forty Thieves” เพราะ Jack Ma มองว่าเป็นชื่อที่จดจำง่าย มีความเป็นสากล และสื่อถึงแนวคิด “เปิดประตูโอกาส” (Open Sesame ประโยคเด็ดจากนิทานอะลีบาบากับโจรสี่สิบคน) ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก
CNBC รายงานว่า “แม้ Jack Ma จะไม่มีพื้นฐานด้านไอที แต่เขามีวิสัยทัศน์ และความเข้าใจลึกซึ้งในความต้องการของตลาดท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Alibaba เติบโตได้อย่างรวดเร็ว”
และจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในห้องนั่งเล่น Alibaba ค่อย ๆ เติบโตขึ้น โดยเน้นให้ SMEs (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) เข้าถึงตลาดโลกผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งที่แตกต่างจากบริษัทเทคโนโลยีอื่นในยุคนั้น
หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญคือเมื่อ SoftBank บริษัทลงทุนชื่อดังจากญี่ปุ่น นำโดย Masayoshi Son ตัดสินใจทุ่มเงินลงทุนกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับ Alibaba ในปี 2000 ซึ่งถือเป็นเงินทุนก้อนใหญ่ที่ช่วยให้ Alibaba ผ่านวิกฤตดอตคอมได้
หลังจากนั้น Alibaba ก็ได้เริ่มแตกแขนงทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว และสร้างอีโคซิสเต็มทางธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งอีคอมเมิร์ซ การเงิน โลจิสติกส์ และคลาวด์เทคโนโลยี ดังนี้
นอกจากนี้ Alibaba ยังมีธุรกิจกลุ่มบันเทิงและสื่อดิจิทัลอีกด้วย นั่นก็คือ Alibaba Pictures ที่เข้าซื้อกิจการของ ChinaVision Media ในปี 2014 และ Youku Tudou (2006)
ซึ่งรายได้ของ Alibaba Group ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 อยู่ที่ 38,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายได้รวมของ Alibaba ในช่วง 12 เดือนที่สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2024 อยู่ที่ 136,131 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 4.29% เมื่อเทียบกับปี 2023
Jack Ma ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของ Alibaba เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2013 และส่งต่อบทบาทให้กับ Jonathan Lu ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในขณะนั้นขึ้นรับตำแหน่งแทน
อย่างไรก็ตาม Jack Ma ยังคงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร (Executive Chairman) ของ Alibaba ต่อไปจนกระทั่งก้าวลงจากตำแหน่งในวันที่ 10 กันยายน 2019 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 20 ปีของบริษัท
และหลังจากนั้น Jack Ma ก็ค่อย ๆ ถอยห่างออกจากบทบาทของผู้บริหารของ Alibaba และหันไปให้ความสนใจกับโครงการด้านการศึกษาและการกุศลผ่านมูลนิธิของเขา (Jack Ma Foundation)
หลังจากเหตุการณ์ในปี 2020 ที่ Jack Ma วิจารณ์ระบบการเงินของจีนบนเวที Shanghai Bund Summit ซึ่งนำไปสู่การถูกระงับ IPO ของ Ant Group และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าควบคุมภาคเทคโนโลยีโดยรัฐบาลจีน ซึ่งหลังเหตุการณ์ดังกล่าว Jack Ma ก็ได้หายไปจากหน้าสื่อและเวทีสาธารณะนานหลายเดือน
จนกระทั่งปี 2023 มีรายงานออกมาว่า Jack Ma ได้กลับมาเยือนจีนอีกครั้ง โดยเดินทางไปยังโรงเรียนในหางโจว ซึ่งถูกมองว่าเป็นสัญญาณการคืนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับภาคเอกชน
อีกทั้งล่าสุด เมื่อต้นปี 2025 ก็มีเรื่องน่าตื่นเต้นมาให้ทั่วโลกได้จ้องมองกันอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีน ได้เรียกรวมตัวซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่และผู้ประกอบการภาคเอกชนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ทั่วประเทศเข้าพบในงานประชุมนัดพิเศษ หลังรัฐบาลได้มีการปราบปรามมานานกว่า 4 ปี ซึ่งการรวมตัวกันครั้งนี้ก็เพื่อหารือแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศท่ามกลางสงครามกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
หนึ่งในผู้เข้าร่วมคนสำคัญของงานนั้นก็คือ Jack Ma ที่เคยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปราบปรามครั้งนั้น และการเกิดขึ้นของการประชุมในครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงท่าทีที่อ่อนโยนของรัฐบาลจีนต่อบริษัทภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคเทคโนโลยี
ทั้งนี้ Jack Ma เคยกล่าวไว้ว่า “อนาคตของธุรกิจไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่คือการสร้างคุณค่าให้ผู้คน” และถึงแม้ว่า Jack Ma จะไม่ได้กลับมาบริหาร Alibaba โดยตรงอีกแล้ว แต่เขายังคงเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดโดยหันไปมุ่งเน้นเรื่องการศึกษา การเกษตร และเทคโนโลยีเพื่อสังคม
ที่มา: Alibaba, Business Insider [1][2][3], Forbes, Investopedia, Business Wire
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney