“พาณิชย์” ยันเงินบาทแข็งค่าขึ้น ไม่กระทบเป้าหมายส่งออกปีนี้โต 5% แนะเอสเอ็มอีทำประกันความเสี่ยงรับมือ ด้าน “สรท.” ระบุเงินบาทอาจกระทบต่อส่งออกไตรมาส 3-4 ขณะที่ “แบงก์ชาติ” แนะผู้ประกอบการหันใช้เครื่องมือทางการเงินซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ยันค่าเงินไม่ใช่ภูมิคุ้มกันระยะยาว
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายในงานสัมมนา “ค่าเงินบาทแข็ง เอสเอ็มอี แก้ได้อย่างไร” ว่า ขณะนี้ ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 33.93 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งแข็งค่า 3-4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ในมุมของการแข่งขัน เชื่อว่าไทยยังได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอาเซียนหลายประเทศ เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าในระดับปานกลาง ยังมีประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ค่าเงินแข็งค่ามากกว่าไทย เช่น เงินริงกิตของมาเลเซีย คาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 5% จากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการขนาดกลาและย่อม (เอสเอ็มอี) ควรทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะค่าเงินยังมีความผันผวนตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังคงไม่แน่นอน โดยเฉพาะมีแนวโน้มว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น ลดอายุตราสารที่ออกโดยธนาคาร หรือ เลตเตอร์ ออฟ เครดิต ให้สั้นลง และทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้เงินตราสกุลท้องถิ่น เช่น เงินบาท หรือเงินหยวน เพื่อลดความเสี่ยงจากเงินเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
ด้าน น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เอกชนมีความกังวลค่าเงินที่ยังผันผวนว่าอาจจะกระทบต่อการส่งออกไทยในช่วงไตรมาส 3-4 ซึ่งเอกชนไม่ต้องการให้ค่าเงินแข็งค่าไปมากกว่านี้ เพราะอาจจะกระทบกับสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์ม สินค้าเกษตรแปรรูปต่างๆ ที่ส่งออกในรูปเงินบาท แต่ได้รายได้กลับมาในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าเกษตรให้ตกต่ำลงไปอีก อย่างไรก็ตาม สรท.จะหารือกับ ธปท.วันที่ 20 มิ.ย.นี้ เพื่อรับฟังและเสนอแนะถึงข้อกังวลของเอกชน และยังประเมินว่า มูลค่าการส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัว 3.5%
นางสาววชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยว่า ธปท.จะติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจะประเมินการออกมาตรการป้องกันและลดแรงจูงใจการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน เพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพบริหารความเสี่ยง อีกทั้งจะส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ทดแทนความเสี่ยงจากค่าเงินดอลลาร์ด้วย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้หลายวิธี เช่น จองสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) การใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการรับและชำระเงิน การเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ เป็นต้น
“หากย้อนดูช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งในช่วงนั้นเงินบาทอ่อนค่า แต่ไม่ได้เป็นผลช่วยส่งออกมากนัก เมื่อเทียบกับสถานการณ์ส่งออกที่เป็นอยู่ในขณะนี้มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ได้เป็นทุกอย่างของการส่งออก แต่อยู่ที่คุณภาพสินค้า ช่องทางขาย และเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการจะนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลกมากกว่า ซึ่งวันนี้ต้องถามตัวเองว่าเราพร้อมหรือยัง กับการเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งเหล่านี้จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า”.