นางพรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและ การเงิน จุฬาฯและกรรมการคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเปิดเผยว่า เตรียมเสนอผลงานวิจัยการส่งเสริมการออมและการลงทุนแก่ประชาชนเพื่อรองรับการเข้าสู่วัยเกษียณต่อสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) เพื่อให้ช่วยกันผลักดันการจัดตั้ง “กองทุนรวมประกัน” ซึ่งเป็นกองทุนระยะยาว และจ่ายผลตอบแทนหลังจากผู้ลงทุนเกษียณอายุเป็นรายเดือน โดยให้ได้รับสิทธิด้านประกันสุขภาพ เพื่อดูแลผู้เกษียณอายุในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“กองทุนรวมประกันถือเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่คล้ายกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF แต่ที่แตกต่างคือกองทุนรวมประกันจะไม่สามารถรับเงินเป็นก้อนหลังเกษียณอายุ เพราะจะทำให้เงินของผู้ออมหมดเร็วแต่จะจ่ายเป็นรายเดือน แถมยังมีประกันด้านสุขภาพหลังเกษียณอายุด้วย เพราะคนสูงอายุจะเริ่มมีปัญหาสุขภาพตามมามากมาย ดังนั้นกองทุนดังกล่าวจะช่วยตอบโจทย์ประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี โดยแนวคิดนี้ต้องให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆต้องพิจารณาอีกครั้ง”
ทั้งนี้ จากผลงานวิจัย ในหัวข้อ “การศึกษาวิเคราะห์ระดับสินทรัพย์การออมขั้นต่ำที่ผู้เกษียณอายุพึงมีสำหรับการประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน (วัยสูงอายุ)” พบว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 63 เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุจะมีมากถึงกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 25% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งหากผู้เกษียณ และผู้สูงอายุไม่มีเงินออมเพียงพอต่อการดำรงชีพในอนาคต จะส่งผลให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล โดยพบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 56.5% มีรายได้เพียงพอสำหรับช่วงเกษียณอายุ ส่วนอีกเกือบ 40% ตอบว่าไม่เพียงพอและเพียงพอเป็นบางครั้ง อย่างไรก็ตาม รายได้หลักของผู้สูงอายุหลังเกษียณยังคงมาจากเงินรายได้ของลูกหลาน
ขณะเดียวกันต้องการเสนอให้ภาครัฐส่งเสริมการออมภาคสมัครใจ และภาคบังคับเพิ่มขึ้น และให้ครอบคลุมผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสังคมด้วยเพื่อสร้างผลตอบแทนในการลงทุนให้กับผู้ออมมากยิ่งขึ้น.