แต่งงานไม่ใช่แค่เรื่องความรัก แต่คือภาระทางสังคมระยะยาว คนจีนรุ่นใหม่เลือกโสด เพื่อรักษาเสรีภาพ

Personal Finance

Financial Planning

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

แต่งงานไม่ใช่แค่เรื่องความรัก แต่คือภาระทางสังคมระยะยาว คนจีนรุ่นใหม่เลือกโสด เพื่อรักษาเสรีภาพ

Date Time: 13 พ.ค. 2568 16:09 น.

Video

Starbucks ถึงยุคสิ้นมนต์ขลัง? | BrandStory EP.18

Summary

  • จีนยังคงเผชิญภาวะอัตราเกิดต่ำ คนรุ่นใหม่ใส่ใจอนาคตตัวเองมากกว่าการสร้างครอบครัว แม้จะมีตัวอย่างเมืองที่ประสบความสำเร็จจากนโยบายกระตุ้น แต่ยังคงเป็นโจทย์ยากและซับซ้อนที่รัฐบาลต้องแก้ไขต่อไป

Latest


จีนกำลังเผชิญวิกฤตประชากรครั้งใหญ่จากอัตราการแต่งงานและการเกิดที่ลดลงต่อเนื่อง แม้จะมีการยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวแล้ว แต่แนวโน้มการมีลูกยังคงลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จนถึงระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายมองว่าเป็น "ระเบิดเวลา" ทางเศรษฐกิจ

เมื่อความรักกลายเป็นภาระ คนรุ่นใหม่จีนเมินแต่งงาน แม้ปีมังกรจะมาถึง

แม้ว่าในปี 2024 จะเป็นปีมังกรที่ชาวจีนเชื่อถือกันว่า เป็นปีมงคลแห่งการมีลูก แต่จำนวนทารกแรกเกิดกลับเพิ่มขึ้นเพียง 5% เมื่อเทียบกับปี 2023 ในทิศทางเดียวกันของอัตราการแต่งงานในประเทศจีนก็ลดลงเกือบ 21% สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 

จากหลากหลายปัจจัย ทั้งสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้คนจีนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มผู้อาศัยในหัวเมืองใหญ่ มองว่า การแต่งงานไม่ใช่เรื่องของความรัก แต่คือการสร้างภาระทางสังคมในระยะยาว “ไหนจะค่าบ้าน ค่ารถ ค่าเทอมลูก” การประคับประคองชีวิตตัวเองในยุคนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า

แม้ว่าเสียงจากพ่อแม่พวกเขาจะไม่ได้คิดเช่นนั้น ในหลายเมืองใหญ่ของจีน อาทิ กรุงปักกิ่ง มีการจัดกิจกรรมตลาดนัดหาคู่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเหล่าพ่อแม่นำข้อมูลส่วนตัวของลูกไปแปะไว้ในพื้นที่กิจกรรม เพื่อหวังเปิดโอกาสให้ลูกได้พบคู่ชีวิต ซึ่งวิธีการดังกล่าวมักถูกมองว่าเป็นแรงกดดันจากพ่อแม่มากกว่าความหวังดี

ธุรกิจจากการลาจาก ภาพหย่าร้างกลายเป็นของที่ระลึกยุคใหม่ในจีน

อย่างไรก็ตามสถานการณ์นี้กลับกลายเป็นช่องว่างทางการตลาดให้เกิดธุรกิจใหม่ อย่าง “ธุรกิจถ่ายภาพการหย่าร้าง” (divorce photography) คือ การบันทึกจุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายการถอดแหวนแต่งงาน ฉีกใบทะเบียนสมรส หรือขณะแยกทางกันที่สำนักงานจดทะเบียนหย่า ซึ่งเหล่านี้กลายเป็นเทรนด์บนโลกออนไลน์ของจีน ที่แสดงให้เห็นทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มองว่าการจบความสัมพันธ์ไม่ใช่จุดจบที่น่าเศร้า แต่เป็นการปล่อยวางและเริ่มต้นสิ่งใหม่

ปัญหาด้านประชากรศาสตร์เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของรัฐบาลจีนมาโดยตลอด จึงมีการใช้นโยบายเงินอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับครอบครัวที่มีบุตร เพื่อกระตุ้นการสร้างครอบครัว และตัวอย่างความสำเร็จของรัฐบาลจีนที่เกิดขึ้นในปี 2024 คือ อัตราการเกิด 17% ในเมืองเทียนเหมิน (Tianmen) แถบจีนกลาง ซึ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี

โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ารูปแบบนี้อาจไม่สามารถนำไปใช้ทั่วประเทศได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและความแตกต่างทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค ทางประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จึงเรียกร้องถึงแนวทางการปลูกฝังทัศนคติของคนหนุ่มสาวเกี่ยวกับการแต่งงาน และการมีครอบครัว เช่นเดียวกับสื่อที่ดำเนินการโดยรัฐบาล แนะนำว่า มหาวิทยาลัยควรจัด "การศึกษาเรื่องความรัก" หรือ Love Education เพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่มีความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์มากขึ้น

แม้รัฐบาลจีนจะพยายามอย่างมากในการกระตุ้นอัตราการเกิดและแก้ไขปัญหาประชากรสูงอายุ แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ซับซ้อนกว่าที่คิด ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานและมาตรการที่หลากหลายมากขึ้นในการแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน

ที่มา : BloombergThe Washington Post


อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ