คนไทยกังวลปัญหาเศรษฐกิจ การเงินอ่อนแอ เกือบครึ่งมี “เงินสำรอง” ไว้ใช้ยามฉุกเฉินไม่ถึงเดือน

Personal Finance

Financial Planning

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คนไทยกังวลปัญหาเศรษฐกิจ การเงินอ่อนแอ เกือบครึ่งมี “เงินสำรอง” ไว้ใช้ยามฉุกเฉินไม่ถึงเดือน

Date Time: 13 พ.ค. 2568 09:48 น.

Video

ไม่กลัวเศรษฐกิจโลกล่มสลาย เพราะมี Bitcoin ผู้เขียน The Bitcoin Standard | Thairatrh Money Talk EP.22

Summary

  • ผลโพลสวนดุสิต ชี้ คนไทยกังวลปัญหาเศรษฐกิจ การเงินอ่อนแอ เกือบครึ่งมี “เงินสำรอง” ไว้ใช้ยามฉุกเฉินไม่ถึงเดือนห่วงสินค้าแพง - ค่าครองชีพเพิ่ม แม้จะรัดเข็มขัด ลดรายจ่ายแล้วก็ตาม

Latest


ท่ามกลางบรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ไทยกำลังเผชิญแรงกระแทกจากหลายทิศ ทั้งการส่งออกที่ชะลอลงจากมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของภาคการท่องเที่ยวจากเหตุภัยธรรมชาติ รวมถึงภาวะราคาสินค้าและค่าครองชีพที่พุ่งสูงต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ประชาชนจำนวนมากยังไม่ขยับตาม

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้การบริโภคภายในประเทศเริ่มอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน คนไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มจับจ่ายอย่างระมัดระวัง ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และพยายามประคองตัวเองให้อยู่รอดในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เห็นทางออก

ในช่วงเวลาแบบนี้ “ความรู้สึกของประชาชน” จึงเป็นอีกหนึ่งสัญญาณสะท้อนความร้อนแรงของปัญหาได้ชัดเจน และจากผลสำรวจล่าสุดของ สวนดุสิตโพล ก็พบว่า คนไทยจำนวนมากไม่เพียงแต่รู้สึก “ไม่มั่นใจ” ต่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังต้องใช้ชีวิตบนฐานการเงินที่เปราะบาง เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หากเกิดวิกฤตขึ้นอีกครั้ง

สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจ “คนไทยกับการรับมือปัญหาเศรษฐกิจ”  ที่จัดทำระหว่างวันที่ 6 – 9 พฤษภาคม 2568 กับกลุ่มตัวอย่าง 1,229 คน  พบประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกไม่มั่นคงต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยรวมกว่า 92% ระบุว่ากังวล ทั้งในระดับ “มาก” และ “ค่อนข้างมาก” สะท้อนความรู้สึกลึก ๆ ของคนไทยที่มองว่าเศรษฐกิจวันนี้ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนและไม่น่าไว้วางใจ

สิ่งที่สร้างความกังวลมากที่สุดคือ “ราคาสินค้าที่แพงขึ้น” (73.23%) ตามมาด้วย “ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” (67.36%) ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่อครัวเรือนจำนวนมากที่ต้องพยายามปรับตัวให้อยู่รอดในภาวะที่รายได้ไม่โตทันรายจ่าย

ผลสำรวจยังพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า เกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง (48.32%) มีเงินสำรองฉุกเฉินใช้ได้ไม่ถึง 1 เดือน หากไม่มีรายได้เลย ขณะที่อีกร้อยละ 35.24 มีสำรองแค่เพียง 1-3 เดือนเท่านั้น นั่นหมายความว่า กว่า 83% ของประชาชน อยู่ในภาวะเปราะบางทางการเงิน ซึ่งไม่สามารถรับมือวิกฤตเศรษฐกิจได้ในระยะยาว แม้จะมีความพยายามในการ “รัดเข็มขัด” 

  • 77.37% ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น 
  • 63.96% ลดการก่อหนี้ใหม่

แต่เมื่อสอบถามถึงการวางแผนการเงินในชีวิตประจำวันกลับพบว่า มีเพียง 27.83% ที่สามารถวางแผนได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ยังติดกับดักของการวางแผนที่ “ทำไม่ได้จริง” ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง เกือบ 60%

ขณะเดียวกัน ความไม่มั่นใจต่อการบริหารจัดการของรัฐบาลยิ่งซ้ำเติมความไม่สบายใจของประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกของไทย ผลสำรวจพบว่า 76.06% ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของรัฐบาลไทยในการรับมือกับปัญหานี้ เหลือเพียง 23.94% ที่ยังคงมีความเชื่อมั่น

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ชี้ว่า ความกังวลของประชาชนไม่ใช่แค่เรื่องปากท้องในปัจจุบัน แต่ยังสะท้อนถึง โครงสร้างทางการเงินของครัวเรือนที่เปราะบาง ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ แม้จะพยายามวางแผนและปรับตัว แต่เมื่อรายได้ไม่พอ รายจ่ายก็ยังเป็นภาระที่จัดการได้ยาก

ขณะที่ ร้อยเอกศักดา ศรีทิพย์ อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน ม.สวนดุสิต วิเคราะห์ว่า จากปัจจัยการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ ปัจจัยการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำ ให้นักท่องเที่ยวลดลง ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้เป็นองค์ประกอบหลักของ GDP ประเทศไทย 

ทำให้ประชาชนค่อนข้างกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน กังวลว่าราคาสินค้าจะแพง ค่าครองชีพจะสูง หนี้สินี้ สินครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น จึงต้องลดรายจ่ายที่ไม่จำ เป็นลง ลดการก่อหนี้ใหม่ เก็บออมเงินมากขึ้นขึ้นเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ 

ซึ่งการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง เพราะประชาชน ระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้น จะกลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ ซ้ำเติมเศรษฐกิจในประเทศให้อ่อนแรงลง อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession)ได้ 

อ่านข่าวการเงินส่วนบุคคล และการวางแผนการเงิน กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดีได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/personal_finance 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ