ปัจจุบันการทำงานเก็บเงินอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถทำให้เรามีความมั่นคงทางการเงินเพื่อดูแลตัวเองยามเกษียณได้ ท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงและเงินที่เสื่อมมูลค่าอย่างรวดเร็ว ทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น
แม้การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตจะช่วยให้คนเข้าถึงความรู้การลงทุนมากขึ้น แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ลงทุนผิดพลาด สูญเงินจนต้องจากตลาดไป สะท้อนถึงความ “รู้ไม่จริง” ด้านการลงทุน ทำให้โดนเอาเปรียบจากนักลงทุนรายใหญ่หรือบริษัทจดทะเบียนที่ไม่ซื่อสัตย์ ที่ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายร่วมกันปั่นหุ้น ฉ้อโกงผลประโยชน์เข้าตัวเอง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแนวทางแก้จุดอ่อนนักลงทุนไทย ลงทุนอย่างไรไม่ให้เจ็บตัวและรู้เท่าทันตลาด
แต่ก่อนจะไปศึกษาแนวทางการลงทุนที่ถูกต้อง เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่านักลงทุนรายย่อยกลุ่มไหนที่ต้องให้ความสำคัญ และมี “จุดอ่อน” ที่ต้องแก้ไขอะไรบ้าง
โดยนักลงทุนรายย่อยที่มีความเสี่ยงจะเจ็บตัวจากการลงทุนมี 3 กลุ่มด้วยกัน
1. กลุ่มที่ขาดความรู้ เช่น กลุ่มผู้ลงทุนที่มีการศึกษาไม่มาก
2. กลุ่มที่ขาดประสบการณ์ เช่น กลุ่มผู้ลงทุนอายุน้อย
3. กลุ่มที่ขาดช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย หรือเอกสารข้อมูลประกอบการตัดสินใจการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งมักอยู่บนรูปแบบดิจิทัล เช่น กลุ่มผู้ลงทุนที่สูงอายุ
จะเห็นว่านักลงทุนทั้ง 3 กลุ่มเป็นกลุ่มคนที่ต้นทุนทางสังคม (social capital) ต่ำ ทำให้มีจุดอ่อนรวมกัน 4 ข้อ ได้แก่ “เงินน้อย รู้น้อย โอกาสน้อย อำนาจต่อรองน้อย” ซึ่งมาตรการการส่งเสริมและคุ้มครองนักลงทุนกลุ่มนี้ที่เหมาะสมประกอบด้วย
1. การเพิ่มความรู้และข้อมูล ลดการรู้ไม่จริง ป้องกันการถูกหลอก
2. การเพิ่มความเท่าเทียมในด้านโอกาสเทียบกับนักลงทุนรายใหญ่
3. การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย
สำหรับนักลงทุนไทย ความรู้เรื่องการเงินและการลงทุนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากเรื่องการเงินและการลงทุนไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนักในระบบการศึกษาไทย คนส่วนใหญ่จึงเข้าไม่ถึงการลงทุน และไม่สนใจศึกษาเพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ผลสำรวจพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เคยได้เรียนเรื่องการลงทุนผ่านสถานการศึกษาเลย ส่วน 24%-29% เริ่มเรียนเรื่องลงทุนในมหาวิทยาลัย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ 36%-46% เรียนเรื่องลงทุนด้วยตนเอง ทำให้กลุ่มที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยและไม่ได้มีความสนใจจะเก็บออมไม่มีโอกาสศึกษาเรื่องการลงทุน
ที่น่ากังวลไปกว่านั้นก็คือ นักลงทุนในตลาดทุนมีเพียง 11% เท่านั้นที่ตอบคำถามเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานเรื่องการลงทุนทั้ง 4 ข้อได้ถูกต้องทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ลงทุนเกือบ 1 ใน 5 ยังเชื่อมั่นว่าตัวเองตอบคำถามถูกต้อง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วตอบไม่ถูก สะท้อนถึง “ความไม่รู้จริง” ด้านการลงทุน
ดังนั้นทางออกของปัญหาความรู้น้อย ไม่รู้จริง คือ การสร้างความรู้เรื่องการเงินและการลงทุนตั้งแต่เด็ก โดยเริ่มสอนความรู้เบื้องต้นทางการเงินในโรงเรียนได้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา และยกระดับเป็นการให้ความรู้ในการลงทุนตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นจนถึงมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการในการกำกับดูแลมาตรฐานการให้คำแนะนำผู้ที่เป็น Influencer ด้านการเงิน เนื่องจากปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนค่อนข้างมาก โดยต้องให้ขึ้นทะเบียนและระบุตัวตนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของคำแนะนำอยู่เป็นระยะว่ามีความเหมาะสมและโปร่งใสหรือไม่ (เช่น ต้องเปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อนที่เป็นไปได้ในการแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หุ้น หรือกองทุนรวมที่ตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสีย)
แม้ปัจจุบันทุกคนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลการลงทุนได้มากขึ้นบนอินเทอร์เน็ต แต่ช่องว่างการลงทุนระหว่างนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อยยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะช่องทางการเข้าถึงและคุณภาพของข้อมูล โดยธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์มักให้ความสำคัญในการบริการคำแนะนำการลงทุนกับลูกค้ารายใหญ่มากกว่ารายย่อย เช่น ผู้ลงทุนรายใหญ่บางรายมีโอกาสเข้าถึงการสัมภาษณ์ผู้บริหารผ่านการทำ Company Visit ได้ แต่โอกาสดังกล่าวมิได้เปิดกว้างสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนมักจัดให้มีการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meetings) ก่อนการพบปะนักลงทุนทั่วไป (เช่น Opportunity Days) ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ที่นักวิเคราะห์เหล่านี้สังกัดอยู่ อาจทราบผลประกอบการหรือแนวโน้มของธุรกิจก่อนผู้ลงทุนรายย่อย จึงมีโอกาสสร้างกำไรมากกว่า
โดยปัญหานี้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาลดช่องว่างดังกล่าวได้ เช่น หน่วยงานรัฐสามารถพัฒนาเครื่องมือช่วยการลงทุนที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เช่น Generative AI ในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์การลงทุน ความเสี่ยง และให้คำแนะนำลงทุนเบื้องต้นแก่นักลงทุนทั่วไปในคุณภาพที่ใกล้เคียงกับที่นักลงทุนรายใหญ่ได้รับจากที่ปรึกษาการลงทุนส่วนตัว แต่ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า
นอกจากนี้ควรเพิ่มทางเลือกด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมให้นักลงทุนรายย่อย เช่น พันธบัตรรัฐบาลควรมีการกระจายตัวสู่รายย่อยมากขึ้น และผ่านช่องทางที่รายย่อยเข้าถึงได้ง่าย ตราสารที่โยงผลตอบแทนกับอัตราเงินเฟ้อ (Inflation-Linked Bonds) หรือผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อเตรียมพร้อมกับวัยเกษียณ (Post-Retirement Products)
อีกประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือการลดเกณฑ์อายุการลงทุน เนื่องจากปัจจุบันมีนักลงทุนที่เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าสู่ตลาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้บัญชีผู้ปกครอง บางส่วนก็เริ่มลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างคริปโตเคอร์เรนซี ทำให้หน่วยงานไม่สามารถติดตามได้ การปรับลดอายุการลงทุนในต่างประเทศ พบว่ามีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความรู้การลงทุนในกลุ่มเยาวชนได้
ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยต้องเจอกับวิกฤติความเชื่อมั่นที่ถดถอยลงเรื่อยๆ จากคดีฉาวที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น คดีโกงหุ้น STARK และคดีปั่นหุ้น MORE ฉ้อโกงโบรกเกอร์มูลค่าความเสียหายกว่า 4,500 ล้านบาท สะท้อนถึงปัญหา Corporate Governance หละหลวมในการติดตามคุณภาพบริษัทจดทะเบียน และขาดความโปร่งใสในการกำกับดูแล ประกอบความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ยิ่งซ้ำเติม sentiment นักลงทุนให้แย่ลงไปอีก ทำให้ตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะยิ่งผลักให้คนอยู่ไกลตลาดหุ้นมากขึ้นกว่าเดิม
ผลสำรวจพบว่า 65% – 68% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วประเทศ มองว่าตลาดทุนเป็นเรื่องที่ห่างไกลตัว มีความกังวลเกี่ยวกับการเมืองที่กระทบต่อตลาดทุน และไม่เชื่อใจที่จะนำเงินไปให้ผู้อื่นบริหาร เป็นปัจจัยที่ทำให้ไม่สนใจลงทุนในตลาดทุน เช่น กองทุนรวม
จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รักษากฎหมายจะต้องเร่งยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น ต้องทำงานให้ทันเหตุการณ์มากขึ้น ตีความกฎหมายตามเจตนารมณ์แทนที่จะเป็นตามลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ก็เพื่อลบเลือนความรู้สึกว่า "คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น" กับ "คนรวยโกงได้ไม่โดนจับ" และควรมีมาตรการเชิงรุกในการดูแลและเยียวยานักลงทุนรายย่อยที่ได้รับความเสียหายจากกรณีเหล่านี้ด้วย
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney