ข้อที่ 1 ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า นอกเหนือจากการเดินหน้าธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch เพื่อปรับตัวสู่ดิจิทัลแบงก์แล้ว ไทยพาณิชย์ยังจะมุ่งหน้าสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) โดยนอกจากการดูแลลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (สินทรัพย์ภายใต้บริหารการจัดการ หรือ AUM 100 ล้านบาทขึ้นไป) ผ่าน บล. ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ บริษัทร่วมทุนกับจูเลียส แบร์ ผู้นำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งจากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งช่วยให้ลูกค้าขยายการลงทุนได้ทั่วโลกแล้ว
ไทยพาณิชย์ยังมีผลิตภัณฑ์ดูแลลูกค้ากลุ่ม Wealth หลากหลาย ได้แก่ SCB PRIVATE BANKING (AUM มากกว่า 50 ล้านบาท) SCB FIRST (AUM 10-50 ล้านบาท) SCB PRIME (AUM 2-10 ล้านบาท) และภายในต้นปีหน้าจะขยายบริการไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการเริ่มต้นสะสมความมั่งคั่ง (Wealth Potential) เพื่อสร้างโอกาสรวยให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม
ธุรกิจ Wealth โตสวนเศรษฐกิจ
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth เปิดเผยว่า การบริหารความมั่งคั่งท่ามกลางตลาดโลกที่มีความผันผวน ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ รวมทั้งสงครามที่ยืดเยื้อนั้น จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์อย่างรวดเร็ว สร้างความหลากหลายตามระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ เพื่อเพิ่มความสมดุลของพอร์ต ลดความผันผวน และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดี
ซึ่งการปรับเปลี่ยนได้เท่าทันกับสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผลการดำเนินงานในปีนี้เติบโตได้ดี คาดว่า รายได้จากกลุ่มธุรกิจ Wealth จะเพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นการเติบโตจากผลิตภัณฑ์ประกัน เงินฝาก และสินเชื่อเพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง (Property-backed Loan และ Lombard Loan) โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้า Wealthและลูกค้าที่มีศักยภาพจะเป็น Wealth อยู่มากกว่า 1 ล้านคน รวมสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ (AUM) 1.6 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของลูกค้ากลุ่มนี้ ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อการลงทุน Property-backed Loan และ Lombard Loan ที่ยอดสินเชื่อเติบโตกว่า 70% ผลิตภัณฑ์ประกันควบการลงทุน Regular Unit-linked ที่ครองอันดับ 1 ในตลาดประกันผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ในปี 2566 รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภท Thematic ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) “แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่เพียงใด ธุรกิจ Wealth Management ในไทยยังโตสูงทุกปี ขณะที่ สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ยังโตได้เฉลี่ย 4.5% ต่อไปอีก 3 ปีข้างหน้า”
จูเลียส แบร์ หวั่นตลาดยุโรป-จีน
นายฟิลิป ริคเกนบาเคอร์ (Philipp Rickenbacher) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จูเลียส แบร์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัจจุบันจูเลียส แบร์คือผู้นำด้านการให้บริการธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสูงโดยเฉพาะ (Pure-Play Wealth Manager) และเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นลำดับ2 ในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อพิจารณาจากมูลค่าบริษัท ภายใต้สินทรัพย์ 441,000 ล้านฟรังก์สวิส ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือการตั้งใจทำในสิ่งเดียว (pureplay) หมายถึงการทำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งระดับสูงเท่านั้น “หลักของธุรกิจ Wealth มีความเชื่อใจและความไว้วางใจเป็นพื้นฐาน ภายใต้เป้าหมายสำคัญ คือการเพิ่มพูนและรักษาความมั่งคั่งของลูกค้าเอาไว้ เพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างสมบูรณ์ รอบด้านในทุกช่วงอายุ”
ทั้งนี้ จากมุมมองตลาดโลกของนายมิเชลมุนซ์ Head of Swiss & European Investment Management จูเลียส แบร์ ระบุ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงขยายตัว (Expansion regime) คาดการณ์สินทรัพย์เสี่ยงสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีนี้ ขณะเดียวกันภาวะเงินเฟ้อจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่โหมดการเติบโตแท้จริงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่เห็นสัญญาณการถดถอยที่จะส่งผลให้ต้องลดความเสี่ยงในการลงทุนในกลุ่ม Multi-asset portfolio (ลงทุนในหลายประเภทสินทรัพย์) โดยมองว่าสหรัฐอเมริกาจัดการกับเงินเฟ้อให้ลดลงได้ดี และการเพิ่มสูงขึ้นของยีลด์ระยะยาวเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ตลาดตราสารหนี้ ปัจจุบันสะท้อนภาพว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถรับมือกับภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นยาวนานกว่าที่คาดการณ์ได้ ขณะที่ยุโรปเจอภาวะเงินเฟ้อที่หนักหนากว่ามาก และการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทำให้มีความเสี่ยงที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่ผิดพลาดอีกครั้ง
ในส่วนของจีน ยังคงต้องระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์จีน จากเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณถดถอย ซึ่งรัฐบาลต้องอัดฉีดเม็ดเงินขนานใหญ่เพื่อป้องกันหนี้เสียในระบบ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่