กลัวเงินเฟ้อ vs กลัวเศรษฐกิจถดถอย

Personal Finance

Financial Planning

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กลัวเงินเฟ้อ vs กลัวเศรษฐกิจถดถอย

Date Time: 13 ส.ค. 2565 05:05 น.

Summary

  • ช่วงนี้ผู้อ่านคงเห็นข่าวธนาคารกลางในโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ยแข่งกับเวลา หวังเอาชนะเงินเฟ้อสูงก่อนคุมไม่อยู่ จนนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มมองว่า นโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็ว

Latest

Gen Z ตั้งเป้ารวยไว มีล้านแรก ก่อนวัย 35  วางแผนสบายตอนแก่ เงินออม-เงินฉุกเฉิน ของต้องมี


ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ช่วงนี้ผู้อ่านคงเห็นข่าวธนาคารกลางในโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ยแข่งกับเวลา หวังเอาชนะเงินเฟ้อสูงก่อนคุมไม่อยู่ จนนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มมองว่า นโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วทั่วโลกเพื่อสกัดเงินเฟ้อยามนี้ คล้ายช่วงเงินเฟ้อสูงปี 1970s จนอาจทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยตามมาได้

หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า ธนาคารกลางส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยกระชากแรงหวังคุมเงินเฟ้อรอบนี้ ไม่กลัวหรือว่าจะกลายเป็นต้นเหตุของเศรษฐกิจถดถอย เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ธนาคารกลางมีหน้าที่ดูแลให้เศรษฐกิจและราคามีเสถียรภาพยั่งยืน แล้วเหตุใดในยุคของแพงค่าแรงไล่ไม่ทันยามนี้ ธนาคารกลางจึงกลัวเงินเฟ้อสูง (inflation fear) มากกว่ากลัวเศรษฐกิจจะถดถอย (recession fear) จากผลของนโยบายการเงินตึงตัวเร็วทั่วโลก วันนี้อยากชวนผู้อ่านมาคิดเรื่องนี้กันค่ะ

ธนาคารกลางอาจประเมินไว้ในกรณีฐาน (กรณีที่น่าจะเป็นไปได้มากสุด) ว่า แม้ทำนโยบายการเงินตึงตัวมากเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เศรษฐกิจก็ยังรับไหว การเหยียบเบรกนโยบายการเงินแรงจะช่วยกดเงินเฟ้อจากปัจจัยอุปสงค์ได้ เพราะเมื่อต้นทุนดอกเบี้ยแพงขึ้น คนมีภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น ต้องลดการใช้จ่ายลง ทำให้อุปสงค์รวมในประเทศลดลง แถมยังช่วยสกัดเงินเฟ้อคาดการณ์ของผู้คนไม่ให้สูงต่อเนื่องได้ด้วย สุดท้ายจะช่วยดึงเงินเฟ้อให้กลับเข้าเป้าได้สำเร็จ ไม่กระทบเศรษฐกิจเยอะ ความเสี่ยงเศรษฐกิจจะถดถอยอาจมี แต่คงไม่มาก

ช่วงหลังเริ่มมีคนเห็นต่างมากขึ้น มองว่าตัวแปรสำคัญอยู่ที่ “บทบาทปัจจัยอุปทานต่อเงินเฟ้อ” หากปัจจัยอุปทาน (จากผลของมาตรการล็อกดาวน์ ปัญหาคอขวดอุปทานผลิตไม่ทันใช้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงมาตรการ Zero โควิดของจีนทำให้ผลิตป้อนโลกได้น้อยลง) เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เงินเฟ้อพุ่งแรงกว่าปัจจัยอุปสงค์และปัจจัยเงินเฟ้อคาดการณ์ การเหยียบเบรกนโยบายการเงินแรงไม่ได้ช่วยกดเงินเฟ้อจากปัจจัยอุปทานแต่อย่างใด เงินเฟ้อจะไม่ชะลอลงมากอย่างที่ธนาคารกลางอยากเห็น แต่ผู้คนกลับต้องเผชิญเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยสูง จนทำให้เศรษฐกิจชะลอมากในภาวะเงินเฟ้อสูง (stagflation)

ถ้าเศรษฐกิจหักหัวลงแรง (hard–landing) จริง แต่ธนาคารกลางยังกลัวเงินเฟ้อสูงมากกว่ากลัวเศรษฐกิจถดถอยที่จะตามมาอยู่ มุ่งขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือคงดอกเบี้ยสูงคุมเงินเฟ้อไว้ กลุ่มคน/ธุรกิจที่มีภาระหนี้สูงเจอต้นทุนการเงินแพงนานวันเข้า แต่รายได้เพิ่มตามไม่ทันก็อาจรับภาระไม่ไหว ผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลายมากขึ้น ทำให้โอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยยิ่งเป็นไปได้มากขึ้นจาก stagflation พ่วงวิกฤติหนี้ที่สูงขึ้นมากเทียบกับก่อน COVID แต่ถ้าธนาคารกลางเริ่มกลัวว่าเศรษฐกิจอาจถดถอยตามมา กลับทิศนโยบายการเงินลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อจากปัจจัยอุปทานก็ยังอยู่อีกยาว จนกว่าปัจจัยอุปทานที่กล่าวมาจะคลี่คลายได้ด้วยตัวเอง ธนาคารกลางคงไม่อยากไปอยู่ในจุดที่ต้องเจอทั้งเงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจถดถอย ตอนนี้นโยบายการเงินกำลังเจอความท้าทายที่กลไกดอกเบี้ยไม่ช่วยแก้เงินเฟ้อจากปัจจัยอุปทาน แถมยังเจอผลข้างเคียงจากนโยบายการเงินตึงตัวของประเทศใหญ่ที่จะมาชะลอเศรษฐกิจและเพิ่มต้นทุนการเงินภายในประเทศได้อีก ภาครัฐอาจต้องปรับนโยบายรับมือภาวะเงินเฟ้อสูงนานไว้เช่นกัน เช่น รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศนโยบาย transform อุตสาหกรรม/เพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและเพิ่มค่าจ้างให้เติบโต วิ่งนำเงินเฟ้อได้อย่างยั่งยืนขึ้นค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ