ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า เพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้เร่งตั้งสำรองรองรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่า 20,000-30,000 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรก และยังมีแผนตั้งสำรองเพิ่มต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง เพื่อสร้างความเข้มแข็งฐานะการเงินรับมือกับลูกหนี้ที่ผ่อนไม่ไหวและอาจกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตได้ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีแผนตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 39,000 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ธนาคารมีเงินสำรองสะสมในสิ้นปีเพิ่มเป็น 410,000 ล้านบาท
ขณะที่นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ปีนี้ได้ตั้งสำรองทั่วไปเพิ่มเติมอีก 11,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งฐานะการเงินแก่ธนาคาร ให้มีความพร้อมนำไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด และอาจผ่อนไม่ไหวในอนาคต และหลังจากนี้ธนาคารยังมีแผนตั้งสำรองเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ธนาคารได้ตั้งสำรองตามเกณฑ์ และยังตั้งสำรองส่วนเกินเพื่อรองรับผลกระทบโควิด ล่าสุด ณ 30 เม.ย.64 ได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น 4,350 ล้านบาท สะสมเป็น 101,450 ล้านบาท หรือทำให้มีอัตราส่วนเงินทุนสำรองต่อหนี้เสีย 182% โดยมีเป้าหมายทั้งปีตั้งสำรองเพิ่ม 8,340 ล้านบาท สะสมเป็น 104,600 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน 208%
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ธนาคารมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ 31 มี.ค.64 ที่ 12,396 ล้านบาท ทำให้มีอัตราส่วนเงินทุนสำรองต่อหนี้เสียเพิ่มเป็น 220% ซึ่งอยู่ในระดับแข็งแกร่งรองรับผลกระทบจากโควิดได้.